ทีเอ็มบีธนชาต รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 3,195 ล้านบาท
ทีเอ็มบีธนชาต รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 3,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อน และ 15% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ด้านคุณภาพสินทรัพย์บริหารจัดการได้ตามเป้าหมาย สัดส่วนหนี้เสียลดลงจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.73%
ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบีธนชาต แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/65 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ PPOP 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากไตรมาสก่อนหน้า หนุนโดยการบริหารจัดการด้านต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านคุณภาพสินทรัพย์เป็นไปตามเป้าหมาย สัดส่วนหนี้เสียเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.73% จาก 2.81% ในไตรมาสก่อน จึงทำให้การตั้งสำรองฯ ในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 4,808 ล้านบาท ลดลง 4% จากไตรมาสที่แล้ว ซึ่งหลังหักสำรองฯ และภาษี มีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2565 ที่ 3,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาส 4 ปี 2564 และ 15% จากไตรมาส 1 ปี 2564
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) เปิดเผยว่า การดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี ในภาพรวมถือว่าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยในปี 2565 ธนาคารตั้งเป้าที่จะเติบโตสินเชื่อในอัตราที่มากกว่าปี 2564 ตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี การเติบโตก็จะยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง เน้นเฉพาะสินเชื่อกลุ่มเป้าหมาย เช่น สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้าน ซึ่งธนาคารมีความชำนาญและเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำตลาด
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้เปิดตัวบริษัทลูก ทีทีบี คอนซูมเมอร์ ตามแผนการปรับโครงสร้างหลังการรวมกิจการ โดย ทีทีบี คอนซูมเมอร์ จะเข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 5% ของสินเชื่อรวม ธนาคารจึงมองว่ายังมีโอกาสเติบโตได้อีกจากฐานลูกค้ารายย่อยที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าหลังการรวมกิจการ
ทั้งนี้ การกลับมาเติบโตสินเชื่อทั้งในส่วนของธนาคาร และจากทีทีบี คอนซูมเมอร์ ก็จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของรายได้ดอกเบี้ยและอัตราผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อในช่วงถัดไป รวมถึงเป็นปัจจัยหนุนการรับรู้ Revenue Synergy หรือประโยชน์จากการรวมกิจการด้านรายได้จากการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอื่น ๆ ให้กับลูกค้าในอนาคตด้วยเช่นกัน
ด้านคุณภาพสินทรัพย์นั้น จากการที่ธนาคารดำเนินการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ควบคู่กับการปรับปรุงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อมาโดยตลอด ส่งผลให้คุณภาพพอร์ตเป็นไปตามเป้าหมายและมีสัดส่วนหนี้เสียอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ขณะที่สินเชื่อภายใต้โปรแกรมให้ความช่วยเหลือก็ทยอยลดลงเป็นลำดับ โดยลูกค้าที่ออกจากโปรแกรมไปส่วนใหญ่สามารถกลับมาชำระคืนหนี้ได้ตามปกติ ทั้งยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา อย่างไรก็ดี ธนาคารจะยังคงดูแลคุณภาพสินทรัพย์อย่างเข้มงวดและตั้งสำรองฯ ในระดับสูงต่อไป เพื่อความรอบคอบและคงฐานะการเงินให้มีความแข็งแกร่ง
สำหรับรายละเอียดผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ปี 2565 มีดังนี้
ณ สิ้นไตรมาส 1/65 เงินฝาก อยู่ที่ 1,360 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.6% จากไตรมาสก่อนหน้า จากการขยายตัวของเงินฝากลูกค้ารายย่อย นำโดยบัญชี ทีทีบี อัพแอนด์อัพ ขณะที่บัญชี ทีทีบี ออลล์ฟรี และทีทีบี โนฟิกซ์ ก็ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ด้านสินเชื่อ สามารถเติบโตสินเชื่อกลุ่มเป้าหมายได้ตามแผน โดยในไตรมาส 1/65 สินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเติบโตได้ที่ 1.2% และ 0.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี สินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ลดลง สาเหตุหลักจากการชำระคืนจากสินเชื่อหมุนเวียน จึงส่งผลให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 1,366 พันล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยที่ 0.4% จากไตรมาสที่แล้ว
ในด้านรายได้ ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ หรือ Pre-Provision Operating Profit (PPOP) จำนวน 8,818 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จาก 8,461 ล้านบาท ในไตรมาส 4/64 และใกล้เคียงกับ 8,898 ล้านบาท ในไตรมาส 1/64 ปัจจัยหนุนหลักมาจากการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในไตรมาส 1/65 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 6,987 ล้านบาท ลดลง 12.7% จากไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 14.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ช่วยลดแรงกดดันจากด้านรายได้ ซึ่งยังคงเห็นการชะลอตัวอยู่ โดยรายได้จากการดำเนินงานรวมในไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 15,774 ล้านบาท ชะลอลง 4.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/64 และ 7.9% จากไตรมาส 1/64 สาเหตุหลักจากรายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังคงชะลอตัว ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้าธุรกิจปรับตัวดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัว
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาส 1/65 สินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 42,144 ล้านบาท ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับ 42,120 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน ขณะเดียวกันสัดส่วนหนี้เสียลดลงมาอยู่ที่ 2.73% จาก 2.81% ในไตรมาสที่แล้ว จึงทำให้ในไตรมาส 1/65 ค่าใช้จ่ายตั้งสำรองฯ จึงอยู่ที่ 4,808 ล้านบาท ลดลง 4.2% จากไตรมาสก่อน และ 12.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังถือเป็นการตั้งสำรองฯ ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภาวะปกติ และเพียงพอต่อการรองรับความเสี่ยง สะท้อนได้จากอัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 132% จากระดับ 129% ในไตรมาสก่อน
ด้านความเพียงพอของเงินกองทุนยังอยู่ในระดับสูงและเป็นลำดับต้น ๆ ของอุตสาหกรรม โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/65 อัตราส่วน CAR และ Tier I (เบื้องต้น) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 19.4% และ 15.4% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารกลุ่ม D-SIBs ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 12.0% และ 9.5% ตามลำดับ
นายปิติ ตัณฑเกษม กล่าวในตอนท้ายว่า “นอกเหนือจากการกลับมาเติบโตเงินฝากและสินเชื่อแล้ว ในปีนี้ธนาคารก็ยังมีแผนลงทุนและพัฒนาด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบใหม่ ๆ เสริมความสามารถในการแข่งขันให้กับธนาคาร และยกระดับการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้าของเรา เพื่อสร้างชีวิตการเงินที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งวันนี้ และอนาคต”