ทิพยประกันภัย นำคณะครู – อาจารย์ ร่วมโครงการ “ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 14”
ทิพยประกันภัย นำคณะครู – อาจารย์ ร่วมโครงการ “ทิพย สืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 14” ตามรอยจุดกำเนิดทฤษฎีใหม่ แนวคิดบวร และอาชีพพระราชทานครั้งแรก
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี นำคณะครูอาจารย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ตามรอยจุดกำเนิดทฤษฎีใหม่ แนวคิดบวร และอาชีพพระราชทานครั้งแรก พร้อมร่วมถอดรหัสพระอัจฉริยภาพในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ในโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 14” สัมผัสวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และท่องฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค อาชีพพระราชทาน แห่งแรกของประเทศไทย สระบุรี
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่ “บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่อง คือ การช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ อาทิโครงการ “ทิพยทำความดีไม่มีสิ้นสุด” โดยได้จัดกิจกรรมให้ครอบคลุมการช่วยเหลือสังคมทุกด้าน
นอกจากนี้ยังได้จัดทำโครงการ “พัฒนาจิตสำนึกสาธารณะให้กับพนักงานในองค์กร และพัฒนาสถาบันครอบครัวให้ดำเนินชีวิตแบบพอเพียง มีคุณธรรม” ร่วมกับองค์กรภาคี หลายองค์กร
สำหรับโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” นี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เรา ได้ร่วมกับองค์กรภาคีต่างๆ ในการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมทางด้านการศึกษา มาตั้งแต่ปี 2561 โดยการนำคณะครูอาจารย์จากทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 400 คนจากกว่า 200 สถาบัน ร่วมโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ในรูปแบบ Edutainment เพราะทุกที่คือการเรียนรู้ ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต ผสมผสานการท่องเที่ยววิถีชุมชน รวมถึงกิจกรรมเวิร์กชอป ผ่านนวัตกรรมบอร์ดเกมที่จะทำให้คณะครูอาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา สามารถนำไปสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้วิถีใหม่ในสถาบันการศึกษา ชุมชน และครอบครัวได้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ UNSDGs”
โดยกิจกรรม ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 14 เป็นกิจกรรมสัมผัสวิถีเกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และท่องฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค อาชีพพระราชทาน แห่งแรกของประเทศไทย สระบุรี
โครงการพัฒนาพื้นที่วัดมงคลชัยพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ถือเป็นจุดตั้งต้นของทฤษฎีใหม่ อยู่ที่ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริให้ค้นคว้าทดลองหาแนวทางปฏิบัติ เพื่อเกษตรกรสามารถดำเนินชีวิตในวิถีเกษตรอย่างมีหลักวิชาการ พึ่งพาตนเองได้ และพออยู่พอกิน ทั้งสามารถพัฒนาเป็นหน่วยสังคมที่เข้มแข็งของประเทศ ซึ่งผู้ที่มาเยี่ยมชม จะได้ประสบการณ์จากการสาธิตการบริหารจัดการที่ดินและน้ำสำหรับการทำการเกษตรที่มีที่ดินขนาดเล็ก การจัดทำแปลงทฤษฎีใหม่ การทำการเกษตรผสมผสาน อีกทั้งการจำหน่ายผลผลิตเพื่อสร้างรายได้ให้กับโครงการ และชุมชนในละแวกใกล้เคียง นอกจากนี้โครงการฯ ยังให้บริการสีข้าวเปลือกให้กับเกษตรกรรอบๆ โครงการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ความรู้การทำเกษตรตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจ เหมาะสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาดูงานของเกษตรกร และผู้ที่สนใจทั่วไป
นอกจากนี้ กิจกรรมสำคัญในการตามรอยพระราชาทุกครั้งคือ การถอดรหัสพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร หลังจากการลงพื้นที่เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติแล้ว คณะครูอาจารย์ได้ทำกิจกรรมถอดบทเรียน นำโดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส ประเทศไทย ผ่านเกมกระดานสื่อการเรียนรู้ (Board Game) 3 แบบ ได้แก่ “Game of Our Nation” ที่สอดแทรกคุณธรรม 4 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ถอดบทเรียนและต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมจากกิจกรรมตามรอยพระราชา และ “The King’s Journey: Learn English an Example of an Invention” ซึ่งคณะครูอาจารย์สามารถนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปต่อยอดการเรียนการสอนสำหรับเยาวชนต่อไป
ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมโครงการตามรอยพระราชา “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 14” เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Health Administration (SHA) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อกระตุ้นให้สถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการปรับปรุงสถานประกอบการให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ (New normal) เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวควบคู่กับมาตรการด้านสุขอนามัย