“DITP”มอบนโยบายทูตพาณิชย์
“DITP”มอบนโยบายทูตพาณิชย์ เดินหน้ายุทธศาสตร์“ตลาดนำการผลิต” สร้างรายได้เข้าประเทศ
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) มอบนโยบายการทำงานให้กับข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศ เน้นเดินหน้ายุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และนโยบาย 14 ข้อของ “จุรินทร์” พร้อมทำหน้าที่ “เซลส์แมนประเทศ” เพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทย และปรับใช้ช่องทางออนไลน์ในการจัดกิจกรรมสร้างรายได้เข้าประเทศ
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า วันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ได้มอบนโยบายการทำงานให้กับข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศ ผ่านระบบ Zoom หลักสูตร “การเตรียมความพร้อมข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศ” ปีงบประมาณ 2564 ณ ห้องวงษานุประพัทธ์ อาคารสวัสดิการ 1 กระทรวงพาณิชย์ โดยได้เน้นให้มีการปฏิบัติงานตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดการนำรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามนโยบาย 14 ข้อ ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ภายใต้นโยบาย 14 ข้อ มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบและเร่งรัดการดำเนินการ ก็คือ การสนับสนุนนโยบายตลาดนำการผลิต ซึ่งต้องตรวจสอบความต้องการในตลาดที่ประจำอยู่เป็นอย่างไร ใครเป็นผู้นำเข้า มีกฎระเบียบอะไร และแจ้งมายังฝ่ายผลิต และช่วยในการระบายสินค้า , อาหารไทยอาหารโลก จะต้องเร่งจัดกิจกรรมกระตุ้นการส่งออก จัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์อาหารไทยมีคุณภาพ ปลอดภัย , การผลักดันการค้าออนไลน์ ซึ่งต้องช่วยหายี่ปั๊วออนไลน์มารวบรวมสินค้าจากผู้ผลิตแล้วนำไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มออนไลน์ , การผลักดันธุรกิจบริการ เช่น ค้าปลีก ค้าส่ง โลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ ดิจิทัลคอนเทนต์ ร้านอาหาร การพิมพ์ เป็นต้น , ช่วย SMEs ทำตลาดต่างประเทศ , เร่งรัดการส่งออกในยุค New Normal , ช่วยสนับสนุนและแก้ไขปัญหาการค้าชายแดน , สนับสนุนการเจรจา FTA และ Mini FTA , สนับสนุนการขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไทยในต่างประเทศ เช่น สินค้า GI , พัฒนางานให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำงาน
ผู้ที่ออกไปทำงานในต่างประเทศ จะต้องทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนให้กับประเทศ โดยต้องหาทางเชื่อมโยงโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะอาหาร สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่บ้าน สินค้าเพื่อสุขอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สินค้าที่เป็นเทรนด์ของโลก BCG Economy และสินค้าเฉพาะกลุ่ม เช่น สุขภาพ สัตว์เลี้ยง ผู้สูงวัย แม่และเด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเครือโรงแรม เรือสำราญ และร้านอาหาร ต้องเร่งกระชับความสัมพันธ์กับคู่ค้า และสร้างเครือข่ายการค้ากับผู้นำเข้า ผู้กระจายสินค้า ฝ่ายจัดซื้อของห้างค้าปลีก ตัวแทนจัดจำหน่าย นักธุรกิจสำคัญ สภาหอการค้า สมาคมการค้า รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ต้องลงลึกถึงระดับเมือง มณฑล และต้องเร่งสร้างความต้องการสินค้าไทยให้เกิดขึ้นในตลาด เพราะบางตลาดผู้ซื้อ ผู้บริโภคอาจจะยังไม่ทราบ หรือรู้ข้อมูลสินค้าไทย จึงต้องทำให้รู้ และกระตุ้นให้เกิดความต้องการ
นอกจากนี้ ต้องเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ในฐานะเซลส์แมนประเทศ กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในฐานะเซลส์แมนจังหวัด โดยใช้ประโยชน์จากกลุ่มไลน์ทูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัด ในการสร้างโอกาสในการส่งออกให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการท้องถิ่น และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่อาจจะเกิดขึ้น
ส่วนการทำงาน จะต้องปรับมาเป็นระบบออนไลน์ และไฮบริดมากขึ้น โดยเน้นการเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Business Matching : OBM) , การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศไทยในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Trade Fair) หรือรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) , ปรับรูปแบบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (Overseas Trade Shows) และการจัดงานแสดงสินค้าไทย (Top Thai Brands) ในต่างประเทศ จากเดิมที่ผู้ประกอบการไทยต้องเดินทางไปร่วมออกคูหาภายในงาน เป็นในรูปแบบ Mirror-Mirror โดยผู้ประกอบการไม่ต้องเดินทาง แต่มอบตัวแทนจำหน่ายออกคูหาในนามบริษัท และหรือส่งตัวอย่างสินค้าไปจัดแสดงในงาน โดยมีระบบเจรจาการค้าทางออนไลน์ ซึ่งจะต้องจัดเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกัน ต้องทำการตลาดโดยใช้สื่อออนไลน์ให้มากขึ้น อาทิ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สำนักข่าวหรือนิตยสารออนไลน์ หรือผ่านกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influencers) เพื่อสร้างความต้องการในตัวสินค้าหรือบริการของไทยในประเทศนั้นๆ , เพิ่มพันธมิตรแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำของต่างประเทศในตลาดต่างๆให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยใช้ช่องทาง Cross Border E-commerce ในการเข้าถึงผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ได้โดยตรง , เจาะตลาดเมืองรอง โดยการขยายความร่วมมือทางการค้ากับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน ในระดับรัฐ มณฑล
อย่างไรก็ตาม ในการมอบนโยบายครั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้มอบข้อคิดในการทำงาน จำนวน 10 ร. คือ 1.รับผิดชอบ 2.รักษาระเบียบ กฎ กติกา 3.รู้ตนเอง 4.รอบรู้ เรียนรู้ ริเริ่ม 5.ร่วมมือ ร่วมใจ 6.รวดเร็วอย่างเรียบร้อย 7.รับรองเหมาะสม 8.รอบคอบ 9.รู้คิดเชิงบวก และ 10.รู้จักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเครือข่าย
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169