“พาณิชย์“ ข้ามฝั่งจับมือชื่นมื่นฝ่ายฉานเมียนมาแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ข้ามพรมแดนลดเสี่ยงการค้าสะดุด
นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายภูมิธรรม เวชยชัย) เป็นหัวหน้าคณะหารือกับนายคุนเต็งหม่อง (Khun Thein Maung) รัฐมนตรีเศรษฐกิจรัฐฉาน และนายไซเล็ก (Sai Late) รัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติรัฐฉาน พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลส่วนกลาง และคณะผู้บริหารรัฐฉาน ณ จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา
นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า รัฐฉาน เป็นรัฐที่มีการทำเกษตรกรรมมากที่สุดของเมียนมาและเป็นรัฐที่ส่งออกสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาที่ไทยเฉลี่ยปีละกว่า ๑.๕ ล้านตัน เพราะผลผลิตของไทยไม่เพียงพอ อย่างไรก็ดี แม้ว่าปัญหามลพิษข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไฟป่า แต่ก็ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า การเผาเพื่อทำการเกษตรก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศทั้งของไทยโดยเฉพาะทางภาคเหนือ และของเมียนมาเอง ประกอบกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาที่ไทยนำเข้าถูกใช้ผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นต้นทางของห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของสินค้าส่งออกสำคัญของไทย นอกจากนี้ ไทยอยู่ระหว่างพิจารณาออกกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการเผาจากเมียนมา จึงเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐมนตรีช่วยฯ ได้ย้ำกับผู้บริหารรัฐฉานว่าทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งเรื่องไฟป่าและการเผาเพื่อการทำการเกษตร
นายดวงอาทิตย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือด้วยบรรยากาศมิตรภาพ และเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขไปที่สาเหตุทั้งที่เกิดในพื้นที่ป่า และการเผาเพื่อทำเกษตร โดยเมียนมาพร้อมร่วมมือทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว อาทิ การแบ่งปันองค์ความรู้การดับไฟป่า การสนับสนุนอุปกรณ์การดับไฟป่า ความร่วมมือเรื่องการจัดทำฐานข้อมูลจุดการเผา (Hot Spot) การจัดการพื้นที่ก่อนปลูกและหลังเก็บเกี่ยว การสร้างมูลค่าเพิ่มในการนำต้นและฝักข้าวโพดไปทำเป็นอาหารสัตว์หรือนำซังข้าวโพดไปทำปุ๋ยแทนการเผา เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นทางการค้าที่จะทำให้การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมามีมูลค่าเพิ่มขึ้นและมีความราบรื่นมากยิ่งขึ้น
นายดวงอาทิตย์ กล่าวตอนท้ายว่า การประชุมครั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องในการอธิบายและให้ข้อมูลกับฝ่ายเมียนมา อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และหน่วยงานในจังหวัดเชียงราย เพื่อตอบสนองต่อประเด็นที่สำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศระหว่างกันในอนาคต และประเด็นปัญหาด้านมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงจะหารือเพื่อติดตามความคืบหน้า โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพในอีกสามเดือนข้างหน้า ณ จังหวัดเชียงใหม่
ไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ปีละประมาณ 4.8 – 5 ล้านตัน (ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) และมีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีละประมาณ 8 ล้านตัน (ข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย) ดังนั้นจึงยังมีความจำเป็นต้องนำเข้า โดยปี 2564 – 2566 ไทยมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเมียนมาเป็นอันดับ 1 เฉลี่ยปริมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 94 จากการนำเข้าทั้งหมด โดยปี 2567 (ม.ค. – พ.ค.)นำเข้าจากเมียนมา เป็นอันดับ 1 เช่นกัน โดยมีการนำเข้าปริมาณ 0.91 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 83 จากการนำเข้าทั้งหมด 1.09 ล้านต้น รองลงมาได้แก่ สปป. ลาว 0.18 ล้านตัน และกัมพูชา 0.004 ล้านตัน (ข้อมูลจากกรมศุลกากร)