TQR รุกพัฒนาประกันภัย “Carbon Credit-Cyber-EV-D&O”เดินหน้าเจรจาดีล M&A กับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องดันผลงานปี 67 เติบโต 10% ทุบสถิติใหม่
บมจ.ที คิว อาร์ (TQR) เดินหน้าพัฒนาประกันภัย ร่วมกับ TQM ALPHA ทั้ง “ประกันภัยคาร์บอนเครดิต-ประกันรถยนต์ EV-ประกันภัยไซเบอร์-ประกันภัย D&O” พร้อมเข้าศึกษาลงทุน M&A ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คาดชัดเจน 1-2 ราย ภายในปีนี้ ฟากบิ๊กบอส “ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์” มั่นใจรายได้ปี 67 เติบโต 10% ด้านบริษัทร่วมทุน อัลฟ่าเซคฯ-อาร์สแควร์ฯ ช่วยเสริมทัพให้ผลงานปีนี้ออลไทม์ไฮต่อเนื่อง
นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) (TQR) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประเมินว่า ในปี 2567 ธุรกิจประกันวินาศภัยจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 4.5-6% จากความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้น นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การตระหนักถึงความปลอดภัยหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยต่อเติบโตตามไปด้วย
“TQR มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่อรูปแบบใหม่ๆ ร่วมกับ TQM ALPHA เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการทำประกันภัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งประกันรถยนต์ไฟฟ้า (EV), ประกันภัยไซเบอร์, การประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors’ and Officers) และสำหรับปีนี้ประกันภัยคาร์บอนเครดิต น่าจะมีความต้องการมากขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ มีการให้ความรู้ ความเข้าใจ ถึงลักษณะ ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ประกันภัยคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงจากโครงการต่างๆ และได้ร่วมหารือกับภาคการเงินธนาคารที่ได้มีการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการต่างๆ ภายใต้ Green loan campaign โครงการปลูกป่าไม้เพื่อประโยชน์ทางสังคม สิ่งแวดล้อมและคาร์บอนเครดิต”นายชนะพันธุ์กล่าว
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมองหาโอกาสสร้างรายได้ ด้วยการลงทุนเพิ่ม ในรูปแบบ M&A และยังคงเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของ TQR ขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ ของผลตอบแทนทางธุรกิจ คาดว่า จะเห็นความชัดเจนภายในปีนี้ 1-2 ราย
นางยุพเรศ พิริยะพันธุ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) (TQR) กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมทุนกับ บริษัท อัลฟ่าเซค จำกัด โดย TQR ถือหุ้นในสัดส่วน 30% ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้าการเติบโตในส่วนของธุรกิจประกันภัยไซเบอร์เพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากฐานลูกค้าในกลุ่ม Software provider ,Manufacturing, Financial และ กลุ่มโรงพยาบาล เป็นต้น พร้อมทั้งขยายไปยังกลุ่มลูกค้ารายใหม่ และในอนาคตยังสามารถขยายไปในประกันภัยด้าน Digital Asset อีกด้วย
ในส่วนของธุรกิจให้บริการ (Service) ของ บริษัท อาร์สแควร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน ปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการแล้วจำนวน 4 ราย และอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 ราย จึงมั่นใจว่า ปัจจัยเหล่านี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้ในปีนี้เติบโตที่ระดับ 10% สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ตามแผนงานที่วางไว้
อนึ่ง ผลการดำเนินงานในปี 2566 (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2566) มีกำไรสุทธิ 100.31 ล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง เทียบปี 2565 มีกำไรสุทธิ 98.23 ล้านบาท และมีรายได้รวม 249.93 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.40 บาท รวมเป็นเงินปันผลจ่าย 92.00 ล้านบาท โดยจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้วในปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.174 บาท คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 40.02 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 ดังนั้น คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายจากกำไรสุทธิ ประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 0.226 บาท คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 51.98 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายจากกำไรสุทธิของบริษัทฯ โดยวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) ในวันที่ 15 มีนาคม 2567 กำหนดวันที่จ่ายปันผลวันที่ 17 พฤษภาคม 2567