คปภ. ลงพื้นที่ติดตาม กรณีอุบัติเหตุรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์ นักศึกษาเสียชีวิต 2 ราย ที่สกลนคร
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุรถยนต์ ทะเบียน กอ 779 อุดรธานี เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ ทะเบียน 1กศ 4224 สกลนคร ณ บริเวณสี่แยกบ้านธาตุนาเวง ถนนนิตโย ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นเหตุให้มีนักศึกษาเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย โดยเหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2564 ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ.ภาค 3 (ขอนแก่น) และ สำนักงาน คปภ. จังหวัดสกลนคร เร่งช่วยเหลือและสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสำนักงาน คปภ.จังหวัดสกลนคร ได้ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากสำนักงาน คปภ. จังหวัดสกลนคร พบว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน กอ 779 อุดรธานี ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 2021-P7951103-VPG เริ่มคุ้มครองวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บ สูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000 – 500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ใน จะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน และได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (ประเภท 3) ไว้กับบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามกรมธรรม์เลขที่ 001D/MA03-21-217813 เริ่มคุ้มครองวันที่ 3 มีนาคม 2564 สิ้นสุดวันที่ 3 มีนาคม 2565 โดยคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาทต่อคน แต่ไม่เกิน 10,000,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก 1,000,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคลกรณีสูญเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ของผู้ขับขี่/ผู้โดยสาร 6 คน 50,000 บาทต่อคน ค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาทต่อคน และประกันตัวผู้ขับขี่ 300,000 บาท
ส่วนรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน 1กศ 4224 สกลนคร ได้ทำประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ตามกรมธรรม์เลขที่ 8188063601027313 เริ่มคุ้มครองวันที่ 18 เมษายน 2563 สิ้นสุดวันที่ 18 เมษายน 2564 นอกจากนี้ ได้ตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้ทำประกันภัยอุบัติเหตุ สำหรับนักเรียน นิสิต และนักศึกษา (แบบโรงเรียนอุ่นใจ) ให้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ไว้กับบริษัท สยามซิตี้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) (บริษัท เอฟดับบลิวดีประกันภัย จำกัด (มหาชน)) ตามกรมธรรม์เลขที่ UD1-20-PPAS-000031 เริ่มคุ้มครองวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 สิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา การรับฟังเสียง การพูดออกเสียง หรือทุพพลภาพถาวรจากอุบัติเหตุทุกชนิด 110,000 บาท ค่าปลงศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย 11,000 บาท ค่ารักษาพยาบาล 11,000 บาทต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง รวมถึงขยายความคุ้มครองค่าใช้จ่ายอื่น กรณีเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยนอก ครั้งละ 600 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นกรณีเข้ารักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ครั้งละ 3,000 บาท และการเคลื่อนย้ายเพื่อการรักษาพยาบาล หรือการส่งศพกลับสู่ภูมิลำเนา 6,000 บาท
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้โดยสารทั้ง 2 ราย โดยครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากระบบประกันภัย รายละ 1,610,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,220,000 บาท ทั้งนี้ ได้รับค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท รวม 1,000,000 บาท และจากการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและการประกันภัยอุบัติเหตุ นักเรียน นิสิติ และนักศึกษา อีกรายละ 1,110,000 บาท รวม 2,220,000 บาท บริษัทประกันภัยอยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานประกอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และพร้อมที่จะจ่ายโดยทันที หากหลักฐานครบถ้วน อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. จะได้ช่วยติดตามให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อไป ในส่วนผู้บาดเจ็บ ซึ่งเป็นผู้ขับขี่ 1 ราย ขณะนี้รักษาตัวที่โรงพยาบาลสกลนคร บริษัทประกันภัยได้เข้าไปอำนวย ความสะดวกและรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลโดยตรง โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายแล้ว
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งกับประชาชนที่ประสบอุบัติเหตุในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทุกสถานที่และกับทุกคน จึงฝากเตือนมายังประชาชนควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย ทั้งการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ การประกันชีวิตและการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อที่ระบบประกันภัยจะได้เข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย