ซีเอสอาร์

มูลนิธิเมืองไทยยิ้ม จับมือเครือข่ายออกหน่วยตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเพื่อผู้สูงอายุที่ยากไร้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

มูลนิธิเมืองไทยยิ้ม จับมือเครือข่าย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บริษัท หอแว่น กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นสานต่อการสร้างโอกาสแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่ยากไร้ “ออกหน่วยตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเพื่อผู้สูงอายุที่ยากไร้ ปีที่ 5” ส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้สูงอายุในสังคมไทย สร้างคุณภาพชีวิตและรอยยิ้มให้แก่ผู้สูงอายุ โดยมีนางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ รองประธานกรรมการมูลนิธิเมืองไทยยิ้ม นายภาคี ประจักษ์ธรรม ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท หอแว่นกรุ๊ป จำกัด นายพุด แย้มพรหม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตะนาวศรี นายนันทโชค เกียรติ์ภูมิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์ นางสมพิศ หลวงแจ่ม พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดราชบุรี พร้อมด้วยผู้บริหารและจิตอาสาจาก เมืองไทยประกันชีวิต ร่วมกิจกรรม ณ โรงเรียนรุจิรพัฒน์ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

โดย นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หนึ่งในเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนโครงการ “ตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเพื่อผู้สูงอายุ” กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอันเป็นประโยชน์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของเมืองไทยประกันชีวิตในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสังคมในทุกมิติ พร้อมให้ความสำคัญต่อ “ผู้สูงอายุ” เพราะตระหนักดีว่าผู้สูงอายุ ได้มีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทยมาโดยตลอด จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการดูแล โดยเมืองไทยประกันชีวิตและมูลนิธิเมืองไทยยิ้มจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งรอยยิ้ม โดยผู้สูงอายุได้รับการดูแลเอาใจใส่ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

สำหรับวัตถุประสงค์โครงการ “ออกหน่วยตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเพื่อผู้สูงอายุที่ยากไร้ ปีที่ 5” นั้น เพื่อการดูแลสายตาและการจัดหาแว่นตาให้แก่กลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและยากไร้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดการเอาใจใส่ในสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยเน้นไปที่การดูแลสายตาที่เป็นสิ่งสำคัญในการรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสายตา มีการรวบรวมข้อมูลการตรวจสอบสายตาอย่างถูกต้อง จากนั้นผู้ที่มีความจำเป็นจะได้รับแว่นตาที่เหมาะสมสำหรับสายตาของตน เป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้สูงอายุในกลุ่มประชากรที่มีความจำเป็นแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้ เนื่องจากปัญหาความยากจนและสภาพพื้นที่ห่างไกล

ในการดำเนินงานนั้น มีการตรวจวัดสายตาและการเสริมสร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสายตาและสุขภาพที่สำคัญให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากไร้ โดยการทำงานในขั้นตอนหลักไม่ว่าจะเป็น การตรวจวัดสายตา จากทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาได้ทำการตรวจวัดค่าสายตาของกลุ่มผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อประเมินความเหมาะสมในการใช้แว่นตา การเลือกแว่นตาที่เหมาะสมจากผลการตรวจสอบ ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่มีความจำเป็นในการใช้แว่นตาจะได้รับการเลือกแว่นตาที่เหมาะสมสำหรับสายตาของตนหรือตรงตามวัตถุประสงค์ของแต่ละคน ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้แว่นตาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้แว่นตาอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยโครงการ “หน่วยตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเพื่อผู้สูงอายุที่ยากไร้ ปีที่ 5” เป็นที่ยอมรับและได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมูลนิธิเมืองไทยยิ้ม มีเครือข่ายสำคัญที่ร่วมกิจกรรม ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บริษัท หอแว่น กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ตลอดจนได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐและชุมชนต่าง ๆ ที่มูลนิธิเข้าไปจัดกิจกรรม ซึ่งโครงการนี้ได้สร้างโอกาสแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่ยากไร้ในการเข้าถึงบริการตรวจวัดสายตาและแว่นตาที่เหมาะสม ไปแล้วกว่า 6,985 ราย ผ่านการออกหน่วยให้บริการ ทั้งสิ้น 53 ครั้ง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของกลุ่มผู้สูงอายุที่ดีขึ้น โครงการนี้ยังเป็นต้นแบบที่ดีในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของกลุ่มที่มีความจำเป็นแต่ยากไร้ในสังคมไทย

ทั้งนี้ในปี 2566 มูลนิธิได้ร่วมออกหน่วยตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเพื่อผู้สูงอายุที่ยากไร้ในภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นจำนวน 7 ครั้ง เป้าหมายการมอบแว่นตาให้ผู้สูงอายุ จำนวน 1,200 ราย โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมไปแล้ว คือ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ.เถิน จ.ลำปาง อ.ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี อ.นาทม จ.นครพนม และที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แก่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง และ อ.บ้านแฮด จ.ขอนแก่น

โครงการ “หน่วยตรวจวัดสายตาประกอบแว่นเพื่อผู้สูงอายุที่ยากไร้ปีที่ 5” ได้เป็นแรงบันดาลใจและก้าวไปข้างหน้าในการสร้างสังคมที่เข้าใจและเอื้อเฟื้อกับกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หวังว่าความเอื้อเฟื้อและการเป็นกำลังใจในการให้บริการด้านสุขภาพและสวัสดิการจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้สูงอายุในอนาคต

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button