ttb analytics มองส่งออกไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัวจากผลของฐานต่ำเป็นหลัก ชี้โมเมนตัมการค้าโลกยังไม่แน่นอนสูง ประเมินทั้งปีติดลบ 1.1%
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมิน ส่งออกไทยตลอดปี 2566 จะพลิกหดตัว 1.1%YoY เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ขยายตัว 5.7%YoY โดยการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ ประกอบกับอุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมที่จะปรับดีขึ้นตามวัฎจักรเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงสินค้าเกษตรและอาหารที่จะได้แรงหนุนจากประเด็นความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และมาตรการกีดกันทางการค้าที่เข้มข้นขึ้น ตลอดจนสภาพอากาศแปรปรวนที่อาจส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตร ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันภาพรวมการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
เศรษฐกิจสหรัฐฯ-ยุโรปชะลอ แรงหนุนจากจีนแผ่วกว่าที่คาด
แม้เศรษฐกิจโลกผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แต่ล่าสุดธนาคารโลกได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2566 ให้เติบโตช้าลงจากปีก่อน ขณะที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ชี้ว่าตัวเลขการค้าโลกในไตรมาส 2 ปี 2566 หดตัวราว 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว 1.9%YoY สอดคล้องกับรายงานล่าสุดขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ประเมินว่า ปริมาณการค้าโลก (World Merchandise Trade Volume) ตลอดทั้งปี 2566 จะขยายตัวได้เพียง 1.7%YoY ซึ่งชะลอตัวลงจากตัวเลขในปี 2565 ที่ขยายตัว 2.7%YoY
ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจคู่ค้าหลักจะชะลอลงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เห็นจากกิจกรรมภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของสหรัฐอเมริกา ในเดือนกรกฎาคม 2566 ที่อยู่ในเกณฑ์หดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (ไม่นับยานยนต์) ก็ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับเศรษฐกิจฝั่งยุโรปที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี จากกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัวลงมาก สวนทางกับเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง
สำหรับจีนที่เคยมองว่าเป็นความหวังที่จะช่วยดึงโมเมนตัมโลกดูแผ่วกว่าที่ตลาดประเมินไว้มาก จากดัชนียอดค้าปลีก (Retail Sale Index) ของจีนที่เติบโตชะลอลงต่อเนื่องและต่ำสุดในรอบปีเมื่อเดือนกรกฎาคม ขณะที่ดัชนีภาคการผลิตก็ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เช่นเดียวกับยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ (New Export Order) ที่เข้าสู่ภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดธนาคารกลางของจีน (PBOC) ปรับลดดอกเบี้ย Reverse Repo ลงอีก 0.1% จากระดับ 1.9% เป็น 1.8% และหั่นดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ลงเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือนสู่ระดับ 2.50% พร้อมส่งสัญญาณเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ เพื่อเร่งสนับสนุนการจับจ่ายภายในประเทศ ท่ามกลางความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายในจีนหลังเผชิญผลพวงจากวิกฤตหนี้เสียเอเวอร์แกรนด์ในช่วงที่ผ่านมา
ส่งออกไทยครึ่งปีแรกติดลบ 5.4% ชี้ครึ่งปีหลังบวกแรงจากฐานต่ำเป็นสำคัญ
บรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดส่งผลกระทบต่อการค้าโลกอย่างมาก อีกทั้งแรงส่งจากอุปสงค์คงค้าง (Pent-Up Demand) ก็แผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่มูลค่าสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับลดลงจากการย่อตัวลงของราคาพลังงาน ตลอดจนสินค้าที่เคยได้อานิสงส์จากการระบาดของโรคโควิด-19 เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเวชภัณฑ์ยาก็เริ่มเข้าสู่วัฎจักรขาลง ส่งผลให้ส่งออกครึ่งแรกของปีในหลายประเทศหดตัวอย่างหนัก อาทิ เกาหลีใต้ (-12.4%) เวียดนาม (-12.0%) อินเดีย (-8.7%) อินโดนีเซีย (-8.0%) และไทย (-5.4%) ตามลำดับ
สำหรับครึ่งปีหลังเชื่อว่าส่งออกไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำเป็นสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับอุปสงค์สินค้า
อุตสาหกรรมที่จะฟื้นตัวได้บ้างตามวัฎจักรเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงความต้องการสินค้ากลุ่มยานยนต์และส่วนประกอบ และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องหลังสถานการณ์อุปทานชะงักงันคลี่คลาย นอกจากนี้ สินค้าเกษตรและอาหารจะได้ปัจจัยสนับสนุนจากประเด็นความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกพลิกขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี
อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าที่อาจลุกลามไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากแรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค โดยเฉพาะตลาดยุโรป ความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวนโยบายและการกีดกันทางการค้าที่ชัดเจนขึ้น (Trade Barrier) ตลอดจนสภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลต่อปริมาณสินค้าเกษตรที่ผลิตได้ในช่วงปลายปี โดยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามากดดันภาพรวมการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ttb analytics จึงประเมินว่า มูลค่าส่งออกไทยตลอดทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 283,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัว 1.1%YoY หรือ เทียบกับปีก่อนที่ขยายตัว 5.7%YoY