คปภ. ลงพื้นที่ทันทีเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีสะพานกลับรถพังถล่ม ย่านถนนพระราม 2 จังหวัดสมุทรสาคร
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีสะพานกลับรถหน้าโรงพยาบาลวิภาราม กม.ที่ 34 ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ที่อยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ที่สัญจรอยู่บนถนนพระราม 2 ช่องทางด่วน ขาเข้ากรุงเทพฯ ส่งผลทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายหลายคัน และทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 7 (นครปฐม) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความเสียหายทั้งต่อร่างกายและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่า
- รถยนต์เก๋ง ทะเบียน ชธ 6271 กรุงเทพมหานคร ถูกแผ่นปูนความยาวกว่า 10 เมตร น้ำหนักราว 5 ตัน หล่นลงมาทับทั้งคันจนรถขาดท่อน ผู้โดยสารเสียชีวิตติดอยู่ภายในรถยนต์ 1 ราย ส่วนคนขับได้รับบาดเจ็บ 1 ราย โดยรถยนต์คันดังกล่าวทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน นอกจากนี้ยังได้ทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้กับบริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 27 เมษายน 2566 โดยให้ความคุ้มครองรับผิดต่อบุคคลภายนอกความเสียหายต่อชีวิตร่างกายหรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุด ตาม พ.ร.บ. จำนวน 500,000 บาท รวม 10,000,000 บาท ต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก จำนวนเงิน 5,000,000 บาทต่อครั้ง และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลแนบท้าย กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ของผู้ขับขี่ จำนวน 100,000 บาท และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสารกรณีเสียชีวิต 100,000 บาทต่อคน
- รถกระบะ ทะเบียน 3 ฒธ 5940 กรุงเทพมหานคร ด้านหน้ารถถูกแผ่นปูนทับ มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย โดยรถยนต์คันดังกล่าวทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
เริ่มคุ้มครองวันที่ 25 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 25 เมษายน 2566 และทำประกันภัยภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ไว้กับบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 25 เมษายน 2565 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 25 เมษายน 2566 - รถยนต์บรรทุกน้ำมัน ทะเบียน 70-9316 พระนครศรีอยุธยา ทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) ไว้กับบริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2565 และทำประกันภัยภาคสมัครใจ ไว้กับบริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยให้ความคุ้มครองรับผิดต่อบุคลภายนอกความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เฉพาะส่วนเกินวงเงินสูงสุด ตาม พ.ร.บ. จำนวน 500,000 บาท รวม 10,000,000 บาท ต่อครั้ง ความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ต่อครั้ง และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลแนบท้ายกรณีเสียชีวิตสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพถาวร ของผู้ขับขี่ จำนวน 100,000 บาท และประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสารกรณีค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาทต่อคน
- คนงานก่อสร้างสะพานดังกล่าว เสียชีวิต 1 ราย โดยทำประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มความคุ้มครองวันที่ 23 ธันวาคม 2564 สิ้นสุดวันคุ้มครองวันที่ 22 ธันวาคม 2565
โดยความคุ้มครองการเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตาหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จำนวน 100,000 บาท และการรักษาพยาบาลต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งจำนวน 5,000 บาท
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ สำนักงาน คปภ. จังหวัดสมุทรสาคร ได้ประสานบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในครั้งนี้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคน จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย