บอร์ด คปภ. เห็นชอบให้นายทะเบียนสั่ง “เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต” ห้ามเคลื่อนย้ายทรัพย์สินและเพิ่มทุนพร้อมนำส่งงบการเงินโดยเร็ว


ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 6/2568 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการ ตามที่นายทะเบียนกำหนดเพิ่มเติม ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 13/2568
ตามที่นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 จึงออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2567 เรื่อง ให้บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 โดยได้กำหนดให้บริษัทดำเนินการและห้ามดำเนินการ รวมถึงจดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้ว และดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บริษัทได้รับเงิน แบ่งออกเป็นห้างวด เพื่อแก้ไขปัญหาฐานะการเงิน และการดำเนินการ
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567 บริษัทได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาการเพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้วและดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บริษัทได้รับเงินตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2567 และนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของ คปภ. ได้มีคำสั่งนายทะเบียนที่ 44/2567 เรื่อง ขยายระยะเวลาให้บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนดตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2)
พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2567 และคำสั่งนายทะเบียนที่ 7/2568 เรื่อง ขยายระยะเวลาให้บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2568 เฉพาะในส่วนการเพิ่มทุนจดทะเบียนชำระแล้วและดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บริษัทได้รับเงินไม่น้อยกว่าจำนวน 95 ล้านบาท ตามข้อ 1 (1) และไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ตามข้อ 1 (2) ตามลำดับโดยขยายระยะเวลาให้บริษัทดำเนินการแล้วเสร็จจากเดิมภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2567 เป็นภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งบริษัทดำเนินการเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายทะเบียนได้พบกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเพิ่มเติม ดังนี้
(1) บริษัทมิได้ยื่นงบการเงิน รายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการ และรายงานการดำรงเงินกองทุนสำหรับงวดปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และงวดไตรมาส 1 ปี 2568 ที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแล้วภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 27/5 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับข้อ 9 (1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการจัดทำและยื่นงบการเงินของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2566 ความในข้อ 7 (1) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการจัดทำ และยื่นรายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2566 และความในข้อ 6/1 (1) และ 6/3 (1) แห่งประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการดำรงเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเป็นเหตุให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าบริษัทนั้นมีฐานะการเงินและการดำเนินงานที่มั่นคง เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดสรรเงินสำรอง การจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยการรายงานและการรับรองการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย การประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สิน
(2) บริษัทมีการให้กู้ยืมโดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นประกันให้กับกิจการซึ่งมีกรรมการที่เกี่ยวข้องกันกับบริษัท โดยมิได้ ขออนุญาตจากนายทะเบียน อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ประกอบข้อ 20 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2556 และเป็นเหตุให้เงินที่ให้กู้ยืมดังกล่าว ซึ่งเดิมนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของจะถูกคำนวณเป็นรายการหักในเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ตามข้อ 9 (1) (ข) 5) แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้เงินกองทุนของบริษัทลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นเหตุให้ปรากฏข้อเท็จจริงจากการประมาณการฐานะการเงินงวดเดือนพฤษภาคม 2568 บริษัทจะมีระดับเงินกองทุนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีแนวโน้ม Tier 1 ratio ที่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่เดือนเมษายน 2568
(3) บริษัทมิได้จัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยตามมาตรา 27/4 ให้ครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนด
ต่อมาบริษัทได้มีหนังสือที่ KWILC103/2025 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ถึงนายทะเบียน เพื่อรายงานความคืบหน้าการแก้ไขฐานะและการดำเนินการ ตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2567 สรุปได้ว่า บริษัทจะได้รับเงินจำนวน 40 ล้านบาท ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินการของคำสั่งนายทะเบียนข้างต้น อย่างไรก็ตาม บริษัทมีพฤติกรรมขอถอนเงินสดออกจากบริษัทเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยไม่ระบุรายละเอียดชัดเจนว่าเพื่อใช้ดำเนินธุรกิจในส่วนใด ทั้งที่บริษัทมีฐานะการเงินและการดำเนินการยังไม่ดีขึ้น
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและพฤติกรรมดังกล่าวข้างต้นของบริษัทเป็นเหตุให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าบริษัทนั้นมีฐานะและการดำเนินการที่มั่นคง เป็นไปตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำรงเงินกองทุนและสินทรัพย์สภาพคล่อง การจัดสรรเงินสำรอง การจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพัน ตามสัญญาประกันภัย การรายงานและการรับรองการคำนวณความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย การประเมินราคาทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนั้น จึงถือได้ว่าบริษัทมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ตามข้อ 5 (3) (4) และ (14) แห่งประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดกรณีที่ถือว่าบริษัทประกันชีวิตมีฐานะหรือ การดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย พ.ศ. 2567
เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของบริษัทเป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุม ทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงิน รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ประกอบกับเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์สาธารณะ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ประกอบมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในการประชุมครั้งที่ 6/2568 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริม การประกอบธุรกิจประกันภัย จึงมีคำสั่งให้บริษัทดำเนินการเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 จดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้ว หรือดำเนินการใดเพื่อให้ได้รับเงิน ไม่น้อยกว่าจำนวน 40 ล้านบาท เพื่อให้บริษัทดำรงเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568
ข้อ 2 จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยตามมาตรา 27/4 ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้
ข้อ 3 ยื่นงบการเงินและรายงานทางการเงินดังต่อไปนี้ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งนี้
(1)งบการเงินสำหรับรอบปีปฏิทิน พ.ศ. 2567 ที่ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นแบบไม่มีเงื่อนไข หรือแบบมีเงื่อนไข ในลักษณะที่ไม่เป็นเหตุให้บริษัทมีฐานะการเงินหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย แก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน
(2)รายงานการดำรงเงินกองทุนประจำปี 2567 ที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี
(3)งบการเงินรายไตรมาส 1 ปี 2568 ที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว
(4)รายงานการดำรงเงินกองทุนรายไตรมาส 1 ปี 2568 ที่ผู้สอบบัญชีได้สอบทานแล้ว
(5)รายงานเกี่ยวกับฐานะการเงินและกิจการ รอบเดือนมกราคม เดือนกุมภาพันธ์ และรายไตรมาส 1 ปี 2568 ให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงและเชื่อถือได้
ข้อ 4 ปรับปรุงการบันทึกรายการบัญชีให้ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง เชื่อถือได้ และเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ที่รับรองโดยทั่วไป
ข้อ 5 ให้เรียกคืนเงินให้กู้ยืมจากการทำสัญญาให้กู้ยืมโดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นประกันให้กับกิจการซึ่งมีกรรมการ ที่เกี่ยวข้องกันกับบริษัทโดยมิได้ขออนุญาตจากนายทะเบียน ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 หากผู้กู้ยืมไม่คืนเงินภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้บริษัทดำเนินการตามกฎหมายกับอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นประกันทันที
ข้อ 6 ห้ามมิให้กรรมการ พนักงาน และลูกจ้างของบริษัทสั่งจ่ายเงินของบริษัท หรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ สำหรับการจ่ายเงินอื่นให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด
นอกจากการดำเนินการข้างต้น บริษัทยังคงอยู่ภายใต้คำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2567 จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินงานตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 36/2567 เรื่อง ให้บริษัท เคดับบลิวไอ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) แก้ไขฐานะและการดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนด ตามมาตรา 53 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 หรือตามเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งที่กำหนดเพิ่มเติมไว้ในคำสั่งนี้ ได้อย่างครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีการดำเนินการที่อาจเข้าข่ายการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเพิ่มเติม หรือนายทะเบียนพิจารณาแล้วเห็นว่า หากรอให้ ครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนดข้างต้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยดำเนินการตามมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 6/2568 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2568 และหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท สำนักงาน คปภ. จะตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว จะไม่กระทบในส่วนของความคุ้มครองและการได้รับชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนของผู้ประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มี ต่อบริษัท โดยบริษัทยังมีหน้าที่ดูแลผู้เอาประกันภัย/ประชาชนเป็นไปตามข้อกำหนดแห่งสัญญาประกันภัยทุกประการ
หากผู้เอาประกันภัย/ประชาชนมีข้อสงสัยหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม ติดต่อได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ www.oic.or.th