โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” บทเรียนจากเต่าทะเลสู่การอนุรักษ์ทะเลไทยอย่างยั่งยืน


ในยุคที่วิกฤตสิ่งแวดล้อมทางทะเลกำลังทวีความรุนแรงทั่วโลก ระบบนิเวศใต้ท้องทะเลของไทยก็กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการกระทำของมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เต่าทะเลเป็นสัตว์อีกหนึ่งสายพันธุ์ที่อาศัยในท้องทะเลมานานนับล้านปี กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากปัจจัยต่างๆ ทั้งการทำประมงเกินขนาด การท่องเที่ยวที่ขาดความรับผิดชอบ และปัญหาขยะพลาสติกในทะเล แม้ว่าเต่าทะเลจะมีสัญชาตญาณอันน่าทึ่งในการเอาตัวรอด เพื่อให้มีชีวิตอยู่อย่างยืนยาว แต่หากไม่มีการอนุรักษ์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง สัตว์ทะเลที่มีคุณค่านี้อาจเหลือเพียงภาพจำในอนาคตอันใกล้
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเล็งเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทางทะเล และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้กองทัพเรือดำเนินการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการฟื้นฟูประชากรเต่าทะเลในประเทศไทยอย่างเป็นระบบและยั่งยืน สืบเนื่องจากแนวพระราชดำริ ดังกล่าว โครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งที่ 51 จึงได้จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา จังหวัดพังงา เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน และงานอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากให้คงอยู่คู่ท้องทะเลไทยสืบไป
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวคิดของโครงการว่า “ศาสตร์พระราชาคือหลักแห่งการพัฒนาที่เคารพธรรมชาติ เห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า ภูเขา หรือท้องทะเล ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทั้งสิ้น การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน คือคำตอบของการเอาชนะวิกฤตสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน และเป็นกุญแจสู่การอยู่รอดของโลกในวันข้างหน้า”

ศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยกองทัพเรือเมื่อปี พ.ศ. 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และยังเป็นสถานที่สืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการดูแลระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลหายาก โดยคณะผู้เข้าร่วมได้รับฟังการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล บทบาทของกองทัพเรือในการอนุรักษ์ และกระบวนการดูแลลูกเต่าตั้งแต่ฟักไข่จนถึงการปล่อยกลับสู่ทะเล ไฮไลท์สำคัญของกิจกรรมคือการที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสปล่อยเต่าทะเลคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงสร้างความประทับใจแต่ยังปลูกฝังจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ให้แก่เยาวชนและผู้เข้าร่วมทุกคน
จากนั้น คณะผู้เข้าร่วมได้เดินทางไปยังโรงแรมอัปสรา บีชฟร้อนท์ รีสอร์ท แอนด์ วิลล่า เขาหลัก ซึ่งเป็นต้นแบบของการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมี นางกันทิมา แสงหลี รองกรรมการผู้จัดการ ให้การต้อนรับ และร่วมบรรยายในหัวข้อ “Green Hotel ต้นแบบโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นำเสนอแนวทางการบริหารจัดการโรงแรมอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดการใช้พลาสติก การจัดการของเสีย ไปจนถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศโดยรอบ ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพัฒนาควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
กิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ “Mind Spa” ซึ่งประกอบไปด้วย การเดินจงกรมภาวนาบนชายหาดเพื่อฝึกสติ และเชื่อมโยงจิตใจกับธรรมชาติ การตักบาตรพระสงฆ์บริเวณสะพานไม้ชายทะเล และการปล่อยปูดำคืนสู่ป่าชายเลนของโรงแรม ซึ่งไม่เพียงเป็นการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตแต่ยังส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งอันเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ

นอกจากกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม โครงการยังให้ความสำคัญกับมิติด้านการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน โดยมีการมอบทุนการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดีให้แก่นักเรียนในพื้นที่ และมอบหนังสือจากโครงการ “อมรินทร์อาสา อ่านพลิกชีวิต” เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนที่มีความต้องการ
การสัมมนาและเวิร์กช็อปเกี่ยวกับศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแบ่งปันความรู้ อาทิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี และอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผู้คิดค้นนวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 หรือ Interactive Board Game หนึ่งเดียวในโลก เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030
โ
ครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย มูลนิธิธรรมดี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานพังงา ภายใต้แคมเปญ The Joys of Phangnga ที่มุ่งเน้นกิจกรรมที่สร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวที่มีความหมาย และได้รับการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสาอ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป