ผถห.TQR อนุมัติจ่ายปันผลปี 67 อีก 0.216 บ./หุ้น รวมทั้งปี 0.40 บ.


ผู้ถือหุ้น บมจ.ที คิว อาร์ (TQR) โหวตรับมติจ่ายปันผลเป็นเงินสดอีก 0.216 บาท/หุ้น รวมจ่ายทั้งปี 67 ในอัตรา 0.40 บาท/หุ้น กำหนดจ่าย 16 พฤษภาคม 2568 ฟากซีอีโอ “ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์” เดินหน้านำกลยุทธ์หลักบริหารธุรกิจร่วมกับบริษัทประกันภัยชั้นนำ พัฒนาประกันภัยต่อรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ ESG-Cyber-D&O-A&H ลุย Synergy กับ ทีคิวเอ็ม อัลฟา พัฒนาประกันภัยต่อที่อยู่อาศัย รับดีมานด์ลูกค้า ขณะที่ 2 บริษัทร่วมทุน “อัลฟ่าเซคฯ-อาร์สแควร์ฯ” นำ AI พัฒนางานต่อเนื่อง ผลักดันรายได้ปีนี้เติบโต 5-10% แตะ All Time High
นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) (TQR) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ในวันที่ 24 เมษายน 2568 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.40 บาท รวมเป็นเงินปันผลจ่าย 92 ล้านบาท โดยได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลแล้วในปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.184 บาท คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 42.32 ล้านบาท เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ดังนั้น คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายจากกำไรสุทธิ ประจำปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 0.216 บาท คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 49.68 ล้านบาท กำหนดวันที่จ่ายเงินปันผลวันที่ 16 พฤษภาคม 2568
“แม้ในปีที่ผ่านมา จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจประกันภัยและประกันภัยต่อ ในส่วนของ TQR แล้วเรามีความพยายาม มุ่งมั่นบริหารธุรกิจอย่างรอบคอบ มีการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ และสามารถทำกำไรสุทธิ 100.25 ล้านบาท สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง ต้องขอขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจกับทีมผู้บริหารในการดำเนินธุรกิจ และในปี 2568 บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นในการบริหารงานให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้มีรายได้เติบโต 5-10% จากปีก่อนสร้างสถิติสูงสุดใหม่ รวมทั้ง มุ่งสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมประกันภัยและประกันภัยต่อครบวงจร ” นายชนะพันธุ์กล่าว
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้ บริษัทฯ ร่วมกับบริษัทประกันภัยชั้นนำ พัฒนาประกันภัยต่อรูปแบบใหม่ๆ ประกอบด้วย ประกันภัยต่อที่เกี่ยวข้องกับ ESG เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV), ประกันภัยต่อสุขภาพและอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident and Health), ประกันภัยต่อไซเบอร์ (Cyber), ประกันภัยต่อความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors and Officers), ประกันภัยต่อการก่อการร้ายและภัยทางการเมือง (Political Violence) เป็นต้น
ส่วนการทำงานร่วมกับบริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) (TQM) มีการพัฒนาประกันภัยและประกันภัยต่อที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการทำประกันภัยเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยังมองหาโอกาสการขยายธุรกิจไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ในรูปแบบการควบรวมกิจการ (M&A) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ
นางยุพเรศ พิริยะพันธุ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที คิว อาร์ จำกัด (มหาชน) (TQR) กล่าวว่า บริษัทร่วมทุน 2 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท อัลฟ่าเซค จำกัด โดย TQR ถือหุ้นในสัดส่วน 30% เพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยไซเบอร์ พร้อมนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Automatically) ได้ขยายธุรกิจเข้าไปในอุตสาหกรรมทางด้านยานยนต์ อุตสาหกรรมด้านการดูแลสุขภาพ และการเงินการธนาคารเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมในส่วนของธุรกิจประภัยต่อไซเบอร์ให้มีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และคาดว่า จะเห็นความชัดเจนของประกันภัยต่อ Personal Cyber ภายในปีนี้
สำหรับ บริษัท อาร์สแควร์ จำกัด บริษัทร่วมทุน ประกอบธุรกิจให้บริการ (Service) โดยมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาและการปรับปรุงคุณภาพของแพลตฟอร์ม ในด้าน Face Recognition เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้าเดิม และการขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าใช้บริการแล้วจำนวน 4 ราย