จากอีสานแล้ง สู่อีสานเขียว: 42 ปี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ต้นแบบการฟื้นฟูทรัพยากรอย่างยั่งยืน
บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สานต่อโครงการ “ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา” ครั้งที่ 47 นำคณะครูอาจารย์ และผู้สนใจเข้าร่วมศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร เพื่อเรียนรู้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริที่พลิกฟื้นผืนดินที่แห้งแล้งของภาคอีสาน ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้อย่างยั่งยืน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 บนพื้นที่กว่า 13,000 ไร่ ได้รับการยกย่องให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ที่รวบรวมองค์ความรู้และการปฏิบัติจริงในด้านการพัฒนาที่ดิน แหล่งน้ำ การฟื้นฟูป่า และการจัดการเกษตรกรรมเชิงบูรณาการ ด้วยเป้าหมายหลักคือการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน ศูนย์แห่งนี้ยังทำหน้าที่เป็นสถานที่ทดลองและถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรกรรมที่ทันสมัยแก่เกษตรกร ตลอดจนการพัฒนาอาชีพต่าง ๆ เช่น การเพาะปลูก การประมง และการเลี้ยงสัตว์ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริมาใช้เป็นแนวทางหลักในการแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล
นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความสำคัญของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานว่า “กิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการศึกษาดูงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและปลูกฝังความตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเองและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า ศูนย์แห่งนี้ถือเป็นแบบอย่างที่ชัดเจนของการบูรณาการองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ทั้งความแห้งแล้ง ป่าไม้เสื่อมโทรม น้ำแล้ง รวมถึงปัญหาความยากจนของประชาชน ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน การได้มาสัมผัสประสบการณ์ตรงนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการเข้าใจถึงความสำคัญของการพัฒนาที่สมดุลและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่อย่างแท้จริง”
ในฐานะเป็น 1 ใน 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานมีบทบาทสำคัญในการแสดงให้เห็นถึงการจัดการทรัพยากรแบบองค์รวม อันเป็นต้นแบบการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่เชื่อมโยงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ได้สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การนั่งรถรางชมศูนย์ฯ เพื่อศึกษาสภาพแวดล้อมและระบบการจัดการพื้นที่ รวมถึงการเยี่ยมชมห้องนิทรรศการที่ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนชาวจังหวัดสกลนครกว่า 109 ครั้ง
หนึ่งในไฮไลท์สำคัญคือการเรียนรู้เรื่อง “สี่ดำมหัศจรรย์แห่งภูพาน” ได้แก่ โคเนื้อภูพาน สุกร ภูพาน ไก่ดำภูพาน และกระต่ายดำภูพาน ซึ่งเป็นตัวอย่างของสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับพื้นที่และการเลี้ยงดูที่ยั่งยืน ผู้เข้าร่วมโครงการยังได้สัมผัสกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การทำผ้าย้อมคราม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาวสกลนคร รวมถึงการทดลองทำผลิตภัณฑ์อาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ ธัญพืชอัดแท่งและไอศกรีมจากไข่ผำ วัตถุดิบพื้นบ้านที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Super Food แห่งอนาคต
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ยังได้ร่วมกิจกรรม “ตักบาตร…รับรุ่งอรุณ” และสักการะ “พระธาตุเชิงชุม” กราบ “หลวงพ่อองค์แสน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองสกลนคร ณ วัดพระธาตุเชิงชุม และยังมีกิจกรรมจิตอาสา และการกุศล ได้แก่ การปล่อยไก่ป่าคืนสู่ธรรมชาติ และการปล่อยปลาเบญจพรรณ 9,999 ตัว เพื่อเป็นการไถ่ชีวิตสัตว์เป็นมหาทานถวายเป็นพระราชกุศล รวมถึงการมอบหนังสือในโครงการ “อมรินทร์อ่านพลิกชีวิต”พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุน และอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้แก่โรงเรียนท่านผู้หญิงจันทิมาพึ่งบารมี จ.สกลนคร ด้วย
ทางโครงการฯ ยังได้จัดกิจกรรม Workshop และการบรรยายเกี่ยวกับศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในทุกมิติ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี และอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย ผู้คิดค้นนวัตกรรมสื่อการสอนสำหรับเยาวชนในศตวรรษที่ 21 หรือ Interactive Board Game หนึ่งเดียวในโลก เพื่อผลักดันให้เกิดนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด และเตรียมความพร้อมประเทศไทยสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในปี 2030
โครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครพนม สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี โดยได้รับการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสา อ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป
สำหรับโครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชาครั้งต่อไป ขอเชิญชวนครูอาจารย์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 1 – 2 กุมภาพันธ์ 2568 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 FB: ตามรอยพระราชา-The King’s Journey