ซีเอสอาร์

ทิพยประกันภัยพาครูอาจารย์เยี่ยมชม “เขื่อนภูมิพล” ฉลองครบรอบ 60 ปี มรดกแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ชุมชน

ในโอกาสครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล ทิพยประกันภัย จัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา ครั้งที่ 44 พาครูอาจารย์ นักเรียน และผู้ที่สนใจ เยี่ยมชม “เขื่อนภูมิพล” จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นตัวอย่างที่ โดดเด่นของการพัฒนาแบบองค์รวมตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เขื่อนภูมิพล นับเป็นจุดกำเนิดของการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืนของประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2500 – 2507 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับโครงการนี้ อย่างยิ่ง ทรงพระราชทานพระปรมาภิไธยของพระองค์ให้เป็นชื่อเขื่อน ในปี พ.ศ. 2500 แทนชื่อเดิมที่มีชื่อว่า “เขื่อนยันฮี” และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนด้วยพระองค์เองในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 เขื่อนภูมิพลมีบทบาทสำคัญในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันอุทกภัย การจัดการชลประทาน การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ เขื่อน ภูมิพลได้สร้างคุณประโยชน์มหาศาลแก่ประเทศชาติและประชาชน อาทิ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้กว่า 64,580 ล้านหน่วย ช่วยหล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรกว่า 10 ล้านไร่ และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนรอบเขื่อนผ่านการท่องเที่ยว

นางวิชชุดา ไตรธรรม ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า “เขื่อนภูมิพลเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการบูรณาการความรู้จากหลากหลายศาสตร์ เพื่อสร้างระบบการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเรียนรู้จากโครงการแห่งนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงความสำคัญของการวางแผนระยะยาว และการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในอนาคต”

ในการเยี่ยมชมโครงการฯ ผู้เข้าร่วมได้เยี่ยมชมบ้านเรือนไทย เขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ นำเสนอพระราชกรณียกิจ พระราชประวัติ โครงการพระราชดำริ และพระอัจฉริยภาพทั้ง 9 ด้านของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงรางวัลต่าง ๆ ที่ทรงได้รับ ผ่านสื่อนิทรรศการที่แบ่งเป็น 3 โซน ได้แก่ แสงทองส่องสยาม, แสงสว่างจากสายนที และแสงแห่งพระราชปณิธาน สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจอันทรงคุณค่าของในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับประชาชน ผู้สนใจ และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

หลังจากนั้น ผู้เข้าร่วมได้นั่งรถเพื่อชมทัศนียภาพโดยรอบของเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้งขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทย และยังได้ร่วมกิจกรรมเสริมทักษะอาชีพต่าง ๆ ได้แก่ การทำสบู่สครับกากกาแฟ การผลิตสบู่สมุนไพรน้ำผึ้งผสมน้ำส้มควันไม้ โดยวิสาหกิจชุมชนศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ชุมชนแม่ระวาน การทำกระเป๋ารีไซเคิลจากถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม และชมการสาธิตการทำผ้ามัดย้อมสีจากธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสาธารณะ ได้แก่ การปล่อยปลาเบญจพรรณจำนวน 20,000 ตัว เพื่อเป็นการไถ่ชีวิตสัตว์ และถวายเป็นพระราชกุศล และการมอบหนังสือในโครงการ “อมรินทร์อ่านพลิกชีวิต” พร้อมด้วยกิจกรรมมอบทุน และอุปกรณ์ทางการศึกษาจากมูลนิธิธรรมดี ให้แก่โรงเรียนเขื่อนภูมิพล จ.ตาก

ทางโครงการฯ ยังมีกิจกรรม Workshop และการบรรยาย โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาทิ “9 ตามรอยนวัตกรรมของพ่อ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนระดับสากล” ที่เป็นการถอดบทเรียนนวัตกรรมศาสตร์พระราชาในประเด็น “ศาสตร์พระราชากับนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด” พร้อมสอดแทรกคุณธรรม 5 ประการ คือ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู และ “The King’s Journey Learn English an Example of an Invention” โดยอาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ที่ปรึกษาและอดีตนายกสมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย พร้อมทั้งการบรรยายเรื่อง “คุณธรรมในยุคดิจิทัล” โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม และ “ถอดรหัสพระอัจฉริยะภาพในหลวงรัชกาลที่ 9” โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานมูลนิธิธรรมดี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามนโยบาย UNSDG ภายในปี 2030

โครงการ ทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอด นวัตกรรมศาสตร์พระราชา จัดโดย บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) คุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานตาก สมาคมนักเรียนเก่า AFS ประเทศไทย และมูลนิธิธรรมดี พร้อมด้วยการสนับสนุนหนังสือจากโครงการอมรินทร์อาสา อ่านพลิกชีวิต อมรินทร์กรุ๊ป

สำหรับการจัดโครงการในครั้งต่อไป ขอเชิญชวนครู-อาจารย์ และผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในวันที่ 26 – 27 ตุลาคม 2567 โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะได้รับประกาศนียบัตรจากทางโครงการฯ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาตนเองในการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษาจากคุรุสภาได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ คุณจารุกัญญ์ โทรศัพท์ 099 397 5333 FB : ตามรอยพระราชา-The King’s Journey

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button