กลุ่มอลิอันซ์ เปิดรายงาน Allianz Risk Barometer เผยลิสต์ความเสี่ยงที่ส่งผลต่อธุรกิจไทยภัยจากการหยุดชะงักทางธุรกิจ ภัยธรรมชาติ และภัยทางไซเบอร์ รั้งอันดันต้น
กลุ่มอลิอันซ์ เปิดรายงาน Allianz Risk Barometer เผยลิสต์ความเสี่ยงที่ส่งผลต่อธุรกิจไทยภัยจากการหยุดชะงักทางธุรกิจ ภัยธรรมชาติ และภัยทางไซเบอร์ รั้งอันดันต้นภัยจากไฟไหม้และการระเบิด และภัยจากเทคโนโลยีใหม่ เป็นความเสี่ยงอันดับที่ 4 และ 5 ตามลำดับความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในเอเชียยังคงเป็นภัยทางไซเบอร์ การหยุดชะงักของธุรกิจ และภัยธรรมชาติการละเมิดข้อมูล การโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ หรือสินทรัพย์ทางกายภาพ และมัลแวร์เรียกค่าไถ่ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความกังวลต่อภัยทางไซเบอร์
รายงานของ Allianz Risk Barometer ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกของนักบริหารความเสี่ยงกว่า 3,000 คน ได้เปิดเผยความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทในประเทศไทยในปี 2567 โดยชี้ให้เห็นว่า การหยุดชะงักทางธุรกิจ (อันดับ 1, 47%) และภัยพิบัติทางธรรมชาติ (อันดับ 1, 47%) ถือเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับแรกในประเทศไทย ตามมาด้วยภัยทางไซเบอร์ (อันดับ 3, 33%) เช่น มัลแวร์เรียกค่าไถ่ การละเมิดข้อมูลและการหยุดชะงักด้านไอที ไฟไหม้และการระเบิด และเทคโนโลยีใหม่ เช่น ความเสี่ยงจากผลกระทบของ AI และรถยนตร์ไฟฟ้า เป็นความเสี่ยงที่อยู่ในอันดับ 4 และ 5
อย่างไรก็ตาม สำหรับทั่วโลกและในเอเชีย ความเสี่ยงสามอันดับแรกได้แก่ ภัยทางไซเบอร์ การหยุดชะงักทางธุรกิจ และภัยธรรมชาติ รองลงมา ได้แก่ ไฟไหม้และการระเบิด (เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 8 เป็นอันดับที่ 4 เมื่อเทียบปีต่อปี) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยังคงอยู่ที่อันดับที่ 5)
เปโตร ปาปานิโคเลา ซีอีโอ Allianz Commercial แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อมูลดังกล่าวว่า “ความเสี่ยงที่สำคัญและปัญหาสำคัญที่อยู่ในอันดับสูงขึ้นใน Allianz Risk Barometer ประจำปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้แก่ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอน ความเสี่ยงเหล่านี้เข้ามาใกล้เราทุกทีแล้ว สภาพอากาศที่รุนแรง มัลแวร์เรียกค่าไถ่ และความขัดแย้งในภูมิภาค จะเป็นบททดสอบความสามารถในการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานและโมเดลธุรกิจในปี 2567 เอเย่นต์และลูกค้าของบริษัทประกันภัยควรคำนึงถึงปัญหาเหล่านี้และปรับความคุ้มครองให้สอดคล้อง”
บริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และธุรกิจขนาดเล็กต่างกังวลกับความเสี่ยงเหมือนกัน โดยส่วนใหญ่มักกังวลเกี่ยวกับภัยทางไซเบอร์ การหยุดชะงักของธุรกิจ และภัยธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ความสามารถในการฟื้นตัวของบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็กแตกต่างกันมากขึ้น เนื่องจากองค์กรขนาดใหญ่ตระหนักถึงความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่โควิด 19 โดยมีแรงผลักดันสำคัญที่จะพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัว ในทางกลับกัน ธุรกิจขนาดเล็กมักจะไม่มีเวลาและขาดทรัพยากรในการค้นหาความเสี่ยงและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ความเสี่ยงที่หลากหลายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจขนาดเล็กจึงใช้เวลานานกว่ากว่าจะฟื้นตัวหลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด
คริสเตียน แซนดริก กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคของ Allianz Commercial Asia กล่าวว่า “ภัยทางไซเบอร์ การหยุดชะงักทางธุรกิจ และภัยธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของบริษัทในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรือธุรกิจขนาดเล็ก บริษัทต่างๆ เผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่มีความผันผวนมากขึ้น ซึ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่แข็งแกร่ง รวมถึงมาตรการที่แข็งแกร่งในการรองรับและการประกันภัย ตัวอย่างเช่น บริษัทต่างๆ กำลังศึกษานโยบายข้ามชาติที่อำนวยความสะดวกสำหรับการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถช่วยลดความสูญเสียและความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด รวมถึงการเลือกใช้โซลูชันทางเลือกสำหรับถ่ายโอนความเสี่ยง เพื่อจัดการกับความเสี่ยงที่ยากต่อการรับประกันในตลาดทั่วไป”
ความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในประเทศไทย
ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงกำลังกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ แผนการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานและความต่อเนื่องทางธุรกิจจึงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถรับมือกับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวได้”
ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ น้ำท่วมในภาคใต้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากและส่งผลกระทบต่อครัวเรือนนับหมื่น นับตั้งแต่น้ำท่วมซึ่งเริ่มขึ้นธันวาคมปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนกว่า 70,000 หลังคาเรือนในจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส บริการรถไฟบางแห่งในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งติดกับมาเลเซียกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากปิดไปหลายวัน เนื่องจากรางรถไฟทรุดตัว ช่วงฤดูฝนในประเทศไทยมักเกิดน้ำท่วมทุกวันเป็นเวลาหลายเดือน แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดโดยฝีมือมนุษย์อาจทำให้ฝนตกหนักมากขึ้น
การผลิตข้าวนอกฤดูกาลในเอเชียมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่ลดลง และผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้ผลผลิตลดลงในช่วงต้นปี 2567 ทำให้อุปทานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้น จากการวิเคราะห์ของผู้ค้าข้าวและนักวิเคราะห์ ประเทศไทยซึ่งผลิตข้าวมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อาจจะผลิตข้าวนอกฤดูลดลงในไตรมาสแรก และคาดว่าจะมีการส่งออกข้าวน้อยลง
ลาร์ส แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ว่า “การเร่งพัฒนา AI ในปี 2566 ช่วยให้เกิดโอกาสอย่างมากสำหรับธุรกิจต่างๆ และสังคมโดยทั่วไป ในขณะเดียวกัน ยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลที่จะตามมาของเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้ ซึ่งปัญหาหลายอย่างที่เรากังวลว่าจะเกิด ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ ศักยภาพของ AI ในการพลิกโฉมธุรกิจจะพัฒนาขึ้นไปอีก โดยจะสามารถเปลี่ยนแปลงทุกอุตสาหกรรมและทุกด้านของชีวิตตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ในฐานะเทคโนโลยีอเนกประสงค์”
เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ผลกระทบด้านความเสี่ยงจาก AI เป็นความเสี่ยงอันดับที่ 5 ของประเทศไทย สื่ออย่างบางกอกโพสต์รายงานว่า 72% ของผู้สำเร็จการศึกษาชาวไทยอาจตกงานเพราะ AI ภายในปี 2573 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานธุรการและการจัดการสำนักงานทั่วไปที่ขาดทักษะเฉพาะด้าน นอกจากแผนที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบด้าน AI แล้ว แนวทางสำคัญของยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้าน AI แห่งชาติของประเทศไทยที่เปิดตัวในปี 2565 ได้แก่ การปรับปรุงความสามารถด้านการศึกษาและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับ AI รายงานความคืบหน้าในเดือนสิงหาคม 2566 ให้ข้อมูลไว้ว่า รัฐบาลได้อนุมัติแผนการพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้าน AI แล้วเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของภาคอุตสาหกรรม
เกี่ยวกับ Allianz Risk Barometer
Allianz Risk Barometer เป็นรายงานการจัดอันดับความเสี่ยงทางธุรกิจประจำปีที่รวบรวมโดย Allianz Commercial บริษัทประกันภัยของกลุ่มอลิอันซ์ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ของอลิอันซ์ โดยรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยง 3,069 คนใน 92 ประเทศและเขตการปกครอง ซึ่งรวมถึงซีอีโอ ผู้จัดการความเสี่ยง เอเย่นต์ และผู้เชี่ยวชาญด้านประกันภัย Allianz Risk Barometer ได้รับการเผยแพร่เป็นครั้งที่ 13