อื่นๆ

เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ร่วมกับ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย จับมือ จีเอ็มเอ็ม โชว์ ชวนแฟนเพลงร่วม “มันส์ ไม่ ทิ้ง”

บริษัท เป๊ปซี่โค เซอวิสเซส เอเชีย จำกัด (เป๊ปซี่โค ประเทศไทย) บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จํากัด และ จีเอ็มเอ็ม โชว์ ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด สานพลังสนับสนุนการบริหารจัดการและคัดแยกขยะอย่างเต็มรูปแบบ ในเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บิ๊กเมาน์เท่นมิวสิคเฟสติวัล ครั้งที่ 13 ที่จะจัดขึ้น ณ ดิโอเชี่ยน เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 2566 นี้ พร้อมเชิญชวนแฟนเพลงร่วมสนุกอย่างรับผิดชอบ แยกขยะ ทิ้งให้ถูกที่ เพื่อส่งไปรีไซเคิล ภายใต้แคมเปญ “มันส์ ไม่ ทิ้ง” มุ่งสู่ “อีโค่-เฟรนด์ลี่ คอนเสิร์ต” ดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับพื้นที่ในการจัดงานบิ๊กเมาน์เท่นกว่า 300 ไร่ จะมีการจัดเตรียมจุดคัดแยกและทิ้งขยะทั้งสิ้น 50 จุด กระจายอยู่ทั่วบริเวณงาน โดยแต่ละจุดจะมีถังรองรับขยะ 4 ประเภท ได้ 1) ขวดพลาสติก PET ซึ่งเป็นถังที่จัดทำขึ้นพิเศษเพื่อรองรับขวด PET โดยเฉพาะ 2) กระป๋องอะลูมิเนียม 3) ขยะอาหาร และ 4) ขยะทั่วไป ซึ่งภายหลังจบงาน ขยะทั้ง 4 ประเภท จะถูกส่งไปรีไซเคิลหรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป โดยมี The Geen บริษัทที่สื่อสารและจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยคัดแยกขยะ ระดมทีมงานและอาสาสมัครกว่า 200 คน กระจายประจำทุกจุดคัดแยกและทิ้งขยะ พร้อมทั้งช่วยแนะนำวิธีการจัดการขยะให้ถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง

จีเอ็มเอ็ม โชว์ ผู้จัดงาน เชิญชวนและขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมชมคอนเสิร์ตให้ช่วยกันคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อนำไปรีไซเคิล และลดปัญหาปริมาณขยะตกค้าง ไม่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนในพื้นที่ ทั้งนี้คาดว่าเทศกาลดนตรีบิ๊กเมาน์เท่นในปีนี้ จะมีเหล่าแฟนเพลงและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมงานไม่ต่ำกว่า 70,000 คนต่อวัน โดยเชื่อมั่นว่าการบริหารจัดการขยะในงานบิ๊กเมาน์เท่นครั้งนี้ จะได้รับความร่วมมือจากแฟนเพลงซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และยังช่วยยกระดับมาตรฐานการชมคอนเสิร์ตในประเทศไทยที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ขณะที่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย และ ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค ประเทศไทย ระบุว่าการบริหารและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะลดปริมาณขยะไปสู่หลุมฝังกลบแล้ว ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรใหม่ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการนำบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเหล่านั้นไปรีไซเคิลหมุนเวียนกลับมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตใหม่ได้อีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขวดพลาสติก PET ภายในงานทั้งหมดจะถูกนำไปรีไซเคิล เพื่อนำกลับมาผลิตเป็นขวด rPET ใช้ซ้ำได้อย่างไม่รู้จบ หรือที่เรียกว่า “Bottle-to-Bottle Recycling” ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญในการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button