สมาคมประกันชีวิตไทยแนะข้อพิจารณาก่อนซื้อประกันชีวิต
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนเริ่มมีการทำประกันชีวิตมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตไทยในช่วง ม.ค.-พ.ค. 2566 มีเบี้ยประกันภัยรับใหม่เติบโตสูงถึง 14% ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนเริ่มเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันชีวิตมากขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยวางแผนและเตรียมพร้อมด้านการเงินผ่านการออมหรือการลงทุน ช่วยบริหารความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ หรือช่วยตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินเพื่อวัยเกษียณหรือส่งมอบมรดก ทำให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลายและตอบโจทย์ผู้เอาประกันภัยมากขึ้น
ดังนั้นก่อนจะเลือกซื้อประกันชีวิต ควรศึกษาทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตอย่างละเอียดถี่ถ้วน และเลือกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง ที่สำคัญจะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยของตนเองว่ามีศักยภาพสามารถชำระได้ครบตามที่กำหนดระบุไว้ในสัญญาหรือไม่ ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจ สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตผ่านช่องทางการขายต่าง ๆ ได้แก่ ตัวแทนประกันชีวิต (Agent) ธนาคาร (Bancassurance) นายหน้าประกันชีวิต (Broker) หรือช่องทางดิจิทัล (Digital) โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลผู้เสนอขาย เช่น เลขที่ใบอนุญาต ชื่อ สกุล และบริษัทที่สังกัด ได้ที่เว็บไซต์ของบริษัทประกันชีวิตหรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
นอกจากจะดูว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่ ควรจะพิจารณาถึงเงื่อนไขความคุ้มครองรวมถึงข้อยกเว้นต่าง ๆ ของสัญญากรมธรรม์ให้ครบถ้วน รวมถึงจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของบริษัทที่จะรับประกันภัยทุกครั้ง เพื่อมั่นใจว่าจะได้รับบริการตามสิทธิประโยชน์ของกรมธรรม์และผลตอบแทนตามที่ระบุไว้ตลอดอายุสัญญาของกรมธรรม์ได้อย่างครบถ้วน โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลสถานะและความมั่นคงทางการเงิน รายงานฐานะการเงิน และผลการดำเนินงาน รวมถึงงบการเงินของบริษัทประกันชีวิตได้ที่เว็บไซต์ของแต่ละบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมด 21 บริษัท และบริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurance) อีก 1 บริษัท
โดยสิ่งสำคัญที่จะต้องพิจารณารายงานฐานะการเงินและผลการดำเนินงานเป็นลำดับแรก คือ อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง (Capital Adequacy Ratio) ซึ่งจะต้องสูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่กำหนด เพราะค่าอัตราส่วนดังกล่าวสะท้อนถึง ความเพียงพอต่อการปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัย และพร้อมที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะครบกำหนด
สุดท้ายนี้ควรเลือกทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันชีวิตที่มีตัวตนและประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองได้อย่างคุ้มค่าและสามารถใช้สิทธิประโยชน์ของกรมธรรม์ได้อย่างครบถ้วน นายกสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าว