ข่าวประกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำทีม คปภ. ลงพื้นที่เปิดตัวประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เพิ่มภูมิคุ้มกันชาวสวนทุเรียนสู้ภัยธรรมชาติ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำทีม คปภ. ลงพื้นที่เปิดตัวประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ เพิ่มภูมิคุ้มกันชาวสวนทุเรียนสู้ภัยธรรมชาติ

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 ได้รับเกียรติจาก นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ “ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” โดยมีนายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และมีนายนรินทร์ สมสะอาด ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายอำเภอกันทรลักษ์ ผู้บริหารสำนักงาน คปภ. หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนบริษัทประกันภัย และเกษตรกรเข้าร่วมด้วย ภายในงานได้จัดเสวนาหัวข้อ “ชาวสวนทุเรียนยุคใหม่ ใช้ระบบประกันภัยคุ้มครอง” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานเครือข่ายที่ให้ความรู้ ประกอบด้วย นายนคร บุตรดีวงศ์ พาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ นายวิชัย ศรีโพธิ์งาม เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ นางสาวทัศนวรรณ เชาว์ดำรงสกุล หัวหน้ากลุ่มกำกับผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย สำนักงาน คปภ. และนายกรรณสูตร หอมจันทร์ ผู้จัดการภาค ภาคกลาง 2 บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งมีกิจกรรมจัดบูธประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย และหน่วยงานเครือข่าย จำนวน 10 แห่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจากอำเภอกันทรลักษ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน ณ สวนจันหอม ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชา บ้านโคกพัฒนา ตำบลละลาย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ

ในโอกาสนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวโดยมีใจความตอนหนึ่งว่า การประกันภัยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยภัยที่สามารถคาดการณ์ได้ คือ ประกันชีวิต ซึ่งมีสถิติข้อมูลที่จะออกแบบได้ แต่ภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ คือ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด เป็นต้น โดยเฉพาะการประกันรายได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการชดเชยความเสียหายของเกษตรกร ซึ่งเป็นความท้าทายในการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยสำนักงาน คปภ. มีบทบาทสำคัญในการช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับประชาชน ซึ่งในเรื่อง Climate Change คือ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องเชื่อมโยงให้เข้าถึงระบบประกันภัย และต้องให้ครอบคลุมไปถึงการดูแลพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกร โดยนำเรื่องเทคโนโลยีมาช่วยให้เกิดความสะดวกและใช้ประโยชน์ให้การบริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นจากความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งการที่สำนักงาน คปภ. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สามารถปรับปรุงให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรให้มากขึ้น ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่ประกันภัยพืชผลทางเกษตรกรตัวอื่น ๆ ได้ และในอนาคตอาจพัฒนาไปสู่เรื่องของประกันภัยรายได้ที่เกิดจากการตกต่ำของผลผลิตทางเกษตรของเกษตรกร โดยระบบประกันภัยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเข้ามาช่วยสนับสนุน รวมถึงการประกันภัยโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และในอนาคตจะต้องเพิ่มความแข็งแกร่งของระบบประกันภัยไทยให้สามารถรองรับความเสี่ยงในรูปแบบต่าง ๆ ได้

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เป็นนโยบายสำคัญของสำนักงาน คปภ. ที่ดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมถึงเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบประกันภัย โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ อาทิ ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ ประกันภัยยางพารา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกันภัยอ้อย จังหวัดอุทัยธานี และประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี จังหวัดนครพนม โดยสำนักงาน คปภ. ภาค 5 (อุบลราชธานี) ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างหรืออีสานใต้ จำนวน 7 จังหวัด ได้สำรวจข้อมูลในพื้นที่พบว่าจังหวัดศรีสะเกษ มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน จำนวน 2,408 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียน 15,575 ไร่ มีพื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 9,004 ไร่ ซึ่งทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกอยู่ใน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ รวมพื้นที่ปลูก 15,072 ไร่ ให้ผลผลิต 8,873 ไร่ ผลผลิต 13,462 ตัน คิดเป็นร้อยละ 99 ของปริมาณผลผลิตทุเรียนทั้งหมดของจังหวัดศรีสะเกษ โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุดคือ พันธุ์หมอนทอง และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 พื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช GAP ทุเรียน มีเกษตรกรจำนวน 654 ราย พื้นที่ 3,962 ไร่ และสิ่งที่สร้างความเสียหาย ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกทุเรียนอยู่บ่อยครั้ง คือ พายุฝนและพายุฤดูร้อน

ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแบบ “กรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงดังกล่าว โดยกรมธรรม์คุ้มครองความเสียหายโดยสิ้นเชิงของต้นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ อันเป็นผลจากภัยลมพายุ ลูกเห็บ น้ำท่วม ไฟไหม้ ฟ้าผ่า ไฟไหม้ป่า การกระแทก ชน ผลักหรือหักลำต้น โดยสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ป่า หรือสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่ของผู้เอาประกันภัยหรือสมาชิกในครอบครัวของผู้เอาประกันภัยหรือภัยจากแมลงซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพ้นระยะเวลารอคอย คุ้มครองความเสียหายบางส่วนของต้นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษอันเกิดจากลมพายุ ซึ่งทำให้เกิดการฉีกหรือหักของกิ่งที่แยกออกมาจากลำต้น จนกิ่งนั้น ไม่สามารถให้ผลผลิตได้อีกต่อไป

โดยกรมธรรม์ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษมีความคุ้มครอง 3 แผน ได้แก่ แผน 1 อายุตั้งแต่ 3 ปี ขึ้นไป ความเสียหายโดยสิ้นเชิงของต้นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ (ชดเชยต่อต้น สูงสุด ไม่เกิน 20 ต้น/ไร่) 1,500 บาท ชดเชยสูงสุดไม่เกินจำนวนเงินจำกัดความรับผิดต่อไร่ 30,000 บาท เบี้ยประกันภัยรวมอากรและภาษี 25 บาทต่อต้น แผน 2 อายุตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไป 1) ความเสียหายโดยสิ้นเชิงของต้นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ (ชดเชยต่อต้น สูงสุดไม่เกิน 20 ต้น/ไร่) 5,000 บาท 2) ความเสียหายบางส่วนของต้นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ อันเกิดจากภัยลมพายุ (ชดเชยต่อกิ่ง สูงสุดไม่เกิน 20 กิ่งต่อต้น) 150 บาท ทั้งนี้ 1) และ 2) รวมกัน ชดเชยสูงสุดไม่เกินจำนวนเงินจำกัดควมร้บผิดต่อไร่ 100,000 บาท เบี้ยประกันภัยรวมอากรและภาษี 175 บาท ต่อต้น แผน 3 อายุตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป 1) ความเสียหายโดยสิ้นเชิงของต้นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ (ชดเชยต่อต้น สูงสุดไม่เกิน 20 ต้น/ไร่) 10,000 บาท 2) ความเสียหายบางส่วนของต้นทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ อันเกิดจากภัยลมพายุ (ชดเชยต่อกิ่ง สูงสุดไม่เกิน 20 กิ่งต่อต้น) 300 บาท ทั้งนี้ 1) และ 2) รวมกัน ชดเชยสูงสุดไม่เกิน จำนวนเงินจำกัดความรับผิดต่อไร่ 200,000 บาท เบี้ยประกันภัยรวมอากรและภาษี 350 บาท ต่อต้น

ด้าน นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่เลือกจังหวัดศรีสะเกษเป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ “ประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” อันจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ในการนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัย ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษพร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน คปภ. เพื่อนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงภัยให้แก่ประชาชนในทุกมิติ

“โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เป็นนโยบายสำคัญของสำนักงาน คปภ. ที่ดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง สอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ตรงกับความต้องการและสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button