ข่าวประกัน

สำนักงาน คปภ. ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยด้วยเทคโนโลยี

สำนักงาน คปภ. ยกระดับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนด้านประกันภัยด้วยเทคโนโลยี เลขาธิการ คปภ. กดปุ่มเปิดระบบ E–Arbitration ให้บริการเต็มรูปแบบพร้อมกันทั่วประเทศแล้ว

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ของสำนักงาน คปภ.และเปิดตัวโปรแกรมระบบการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการออนไลน์ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2566 ณ อาคารสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร โดยเปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้มีการปรับตัวให้เข้าสู่ยุค Next Normal ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งด้านการกำกับและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัย การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้มีความสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์และการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของสำนักงาน คปภ. ในการยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีใน 3 มิติใหม่คือ

มิติแรก ปรับปรุงโฉมของ Website สำนักงาน คปภ. ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ให้มีความทันสมัยเพื่อลดขั้นตอนในการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้น โดยรวบรวมข้อมูลด้านการประกันภัยเสมือนเป็นห้องสมุดด้านการประกันภัยที่รองรับทุกการเข้าถึงในทุกอุปกรณ์ ทั้งจากโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต โดยปรับเพิ่มรูปแบบ Website สำนักงาน คปภ. เช่น นำระบบ Chatbot ซึ่งเดิมอยู่แยกต่างหากมารวมไว้ ทำให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนในการสอบถามข้อมูลด้านการประกันภัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพิ่มระบบค้นหาสำนักงาน คปภ. ทุกแห่งทั่วประเทศด้วยระบบ Google Map เพิ่มระบบค้นหา Search ที่สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น แบ่งหมวดหมู่ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น มีการบริการอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน คปภ. ที่สามารถรองรับทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ นอกจากนี้ยังสามารถเข้าชม OIC Virtual Museum พิพิธภัณฑ์เสมือนรูปแบบ 360 องศา ที่รวบรวมประวัติการประกันภัยไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งมีการรวบรวมข่าวสาร ปฏิทินกิจกรรมของสำนักงาน คปภ. ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคไว้อย่างเป็นระบบครบวงจรด้วย “รอบรู้ประกันภัย ครบใน Web เดียว กับ www.oic.or.th”

มิติที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนงาน หรือ ระบบ E–Arbitration ที่มีการเปิดตัวในวันนี้ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศต่อยอดมาจากระบบ PPMS (Policyholder Protection Management System) ที่มีอยู่ โดยระบบดังกล่าวสามารถรองรับกระบวนการพิจารณาผ่านระบบออนไลน์ในทุกขั้นตอนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การยื่นคำเสนอข้อพิพาท การยื่นคำคัดค้าน การวางและคืนเงินเป็นหลักประกัน การตั้งอนุญาโตตุลาการ การกำหนดวันนัดพิจารณา การส่งและสั่งคำร้อง การสืบพยาน การจัดทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งสามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับวิเคราะห์และจัดทำรายงานข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับงานอนุญาโตตุลาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ในการพัฒนาระบบ E – Arbitration เพื่อนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการนั้น สำนักงาน คปภ. ได้วิเคราะห์สภาพปัญหาของกระบวนการที่ใช้ในปัจจุบัน จนได้ข้อสรุปว่าจำเป็นต้องนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการดำเนินงาน จากนั้นจึงได้มีการพัฒนาระบบแล้วได้เชิญผู้มีส่วนที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้แทนผู้เสนอข้อพิพาท ผู้แทนผู้คัดค้าน (บริษัทประกันภัย) และอนุญาโตตุลาการสำนักงาน คปภ. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เข้าร่วมทดสอบระบบและรับฟังข้อเสนอแนะในระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2565 พร้อมทั้งได้นำข้อเสนอแนะต่าง ๆ มาปรับปรุงและพัฒนาระบบเพิ่มเติม นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมความพร้อมและซักซ้อมความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนเปิดใช้งานระบบ E–Arbitration อย่างเป็นทางการ โดยระบบ E–Arbitration จะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในแง่ประชาชนผู้เอาประกันภัย จะทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งมีผลทำให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนหรือยุติข้อพิพาทได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงและติดตามความคืบหน้าได้ตลอดทุกที่และตลอดกระบวนการ ส่วนทางด้านบริษัทผู้รับประกันภัยก็จะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกระบวนการพิจารณา โดยไม่ต้องเดินทางมา ณ ที่ทำการของอนุญาโตตุลาการในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งลดภาระการดำเนินการทางเอกสาร และสามารถบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของอนุญาโตตุลาการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ก็จะช่วยให้มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมากขึ้น

สำหรับการใช้งานระบบ E – Arbitration ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สามารถเข้าใช้งานได้ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (WWW.OIC.OR.TH) โดยทำการเลือกที่ MENU “อนุญาโตตุลาการออนไลน์” ทั้งนี้ การเปิดใช้งานระบบเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนที่มีความพร้อมในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งในช่วงระยะเวลาเริ่มต้นของการใช้ระบบนี้ สำนักงาน คปภ. ยังคงเปิดรับการให้บริการคู่พิพาทตามรูปแบบเดิมคู่ขนานกันไปด้วย ในส่วนของวิธีการใช้งานและช่องทางในการใช้งานผ่านระบบ E-Arbitration ดังกล่าว ประชาชน บริษัทประกันภัย และอนุญาโตตุลาการ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและเข้าใช้งานโดยสำนักงาน คปภ. ได้มีการเผยแพร่คู่มือการใช้งานและคลิปวิดีโอแนะนำการใช้งานต่าง ๆ ตลอดจนเอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ได้ที่ Website สำนักงาน คปภ. Facebook สำนักงาน คปภ. OIC Mobile Application : คปภ. รอบรู้ และสายด่วน คปภ. 1186

มิติที่ 3 สำนักงาน คปภ. อยากให้ช่องทางการสื่อสารของสำนักงาน คปภ. สามารถครอบคลุมประชาชนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย จึงได้เพิ่มช่องทางการสื่อสารด้านการประกันภัย อีก 3 ช่องทาง คือ Instagram Twitter และ TikTok และปรับชื่อ Facebook YouTube ใหม่ เพื่อป้องกันความสับสนและเพื่อจะได้ง่ายต่อการจดจำโดย Facebook : เปลี่ยนจาก proic2012 เป็น oicthailand ในส่วนของ YouTube : เปลี่ยนจาก oicstation เป็น oic.thailand สำหรับInstagram หรือ IG : ใช้ชื่อในการค้นหา คือ oic.thailand ในขณะที่ Twitter : ใช้ชื่อในการค้นหา คือ oic_thailand และ TikTok : ใช้ชื่อในการค้นหา คือ oicthailand

“สำนักงาน คปภ. มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาการให้บริการประชาชนด้านประกันภัยอย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงาน คปภ. จะติดตามการใช้งานระบบ E–Arbitration อย่างต่อเนื่อง พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อแนะนำจากผู้ใช้งานเพื่อนำมาปรับปรุงระบบงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button