ข่าวประกัน

ทิพยประกันภัย จับมือ กระทรวงมหาดไทย จัดงาน “ชิคแอนด์ชิล ด้วยผ้าไทย ไปกับทิพย” ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ปักธงบริษัทประกันภัยแห่งแรก ปลุกกระแสให้พนักงานสวมใส่ผ้าไทย

ทิพยประกันภัย ร่วมสืบสานพระราชปณิธานและเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสนองแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จับมือ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดงาน “ชิคแอนด์ชิล ด้วยผ้าไทย ไปกับทิพย”ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” รณรงค์ให้พนักงานแต่งกายด้วยผ้าไทยในวันทำงาน นับว่าเป็นองค์กรแรกในธุรกิจประกันภัยไทย ที่เดินหน้าปลุกกระแสการสวมใส่ผ้าไทย เพื่อร่วมอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสาน รักษา และต่อยอด มรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย ตลอดจนสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน

ดร.สมพร สืบถวิลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ทิพย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทิพยประกันภัย กล่าวว่า เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในการอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้า และสนองพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทิพยประกันภัย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กรมการพัฒนาชุมชน สมาคมแม่บ้านมหาดไทย พร้อมจัดงาน “ชิคแอนด์ชิล ด้วยผ้าไทย ไปกับทิพย” ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อร่วมอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสาน รักษา และต่อยอด มรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน ผ่านการเชิญชวนผู้บริหารและพนักงานทุกสาขาทั่วประเทศสวมใส่ผ้าไทยในวันทำงาน ทุกวันพฤหัสบดีตลอดปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการเห็นคุณค่าของผ้าไทยตามโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประกวดการแต่งกายด้วยผ้าไทยของผู้บริหารและพนักงาน บมจ. ทิพยประกันภัย การนำผ้าไทยทุกชนิดมาแลกเปลี่ยนกับผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ตามราคาขายของผ้าไทยที่นำมาแลก ซึ่งจะไม่เกินค่าเบี้ยประกันภัย ของ บมจ. ทิพยประกันภัย อีกทั้งการมอบของที่ระลึก ในนาม บมจ. ทิพยประกันภัย แก่คู่ค้าโดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผ้าไทย รวมถึงบริษัทฯ จะจัดกิจกรรมพิเศษให้กับลูกค้าและประชาชนทั่วไปได้สามารถเข้าร่วมโครงการ โดยทุกวันพฤหัสบดีหากสวมใส่ผ้าไทยมาซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยของบริษัทฯ ก็จะได้รับส่วนลดพิเศษซึ่งสามารถติดตามช่วงเวลาในการเริ่มกิจกรรมผ่านช่องทาง Website , Facebook Fanpage , Line OA ของทางบริษัทฯ ต่อไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพลิกฟื้นผ้าไทย ทรงทุ่มเทพระวรกาย
พระปรีชาญาณและกำลังพระราชทรัพย์ ต่าง ๆ ยาวนาน รื้อฟื้นขึ้นมา ทำให้ผ้าไทยกลับคืนสู่สังคมไทยชาวบ้านภาคภูมิใจ เป็นอาชีพเลี้ยงดูชีวิตและครอบครัวได้ “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชดำริว่า ขาดทุนของพระองค์ คือกำไรของชาติ ทรงชุบชีวิตผ้าไทยขึ้นมา กระทั่งมาถึงวันนี้ คนทอผ้าของเรามีมากพอที่จะรักษามรดกภูมิปัญญาไว้ได้แล้ว” ด้วยพระบารมีปกเกล้าของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงรื้อฟื้นผ้าไทยขึ้นมา ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของเราลูกหลานในการสืบทอดต่อไป วิธีการที่ดีที่สุด เราต้องภาคภูมิใจในการสวมใส่ผ้าไทย เพื่อให้ความต้องการสวมใส่ผ้าไทยเป็นตัวกระตุ้น ทำให้ภูมิปัญญานี้ยังคงอยู่กับพ่อครู แม่ครู และลูกหลานที่จะสืบทอดภูมิปัญญานี้ต่อไป ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2498 ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงได้มีพระราชดำริว่าควรจะมีการนำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่มาพัฒนาเป็นอาชีพให้เกิดรายได้แก่ราษฎรซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อีกทั้งยังมีพระประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการสานต่อพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินโดยได้จัดทำโครงการ “สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” ขึ้น อีกทั้งยังได้ผลักดันมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย จนเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการดังกล่าว โดยการรณรงค์เชิญชวนคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการดำเนินการตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย

ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนส่งเสริมการใช้ผ้าไทย โดยน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย โดยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการรณรงค์เชิญชวนให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน และเผยแพร่ภูมิปัญญาผ้าไทยในทุกโอกาส สมาคมแม่บ้านมหาดไทยเป็นผู้นำแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัดและผู้บริหารระดับสูงของจังหวัด ร่วมสวมใส่ชุดผ้าไทยที่ได้รับการออกแบบตัดเย็บโดยช่างตัดเย็บในท้องถิ่น นำผืนผ้ามาสรรค์สร้างเป็นผลงานที่มีความสวยงาม สะท้อนความคิดอันสร้างสรรค์ และเรื่องราวความเป็นมาตามอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เพื่อสนองแนวพระดำริ

“ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั่น แน่วแน่ ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อต่อลมหายใจให้ผืนผ้าไทย ทำให้พี่น้องประชาชนเกษตรกรในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่างทอผ้าและผู้ประกอบการผ้า ได้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากภูมิปัญญา หัตถศิลป์ หัตถกรรม ที่สืบสานถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ผสมผสานต่อยอดด้วยหลักวิชาการแฟชั่นสมัยใหม่ให้ตรงตามความต้องการของตลาด สอดคล้องกับความนิยมชมชอบของประชาชน เป็นผลงานที่ร่วมสมัย ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความสุขให้กับครอบครัว ชุมชน เพื่อร่วมสร้างสังคมที่มีความยั่งยืนในทุกมิติ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button