การค้า การส่งออก

พาณิชย์ ย้ำคณะกรรมการทุ่มตลาดฯ พิจารณาผลการทบทวน AD อย่างเป็นธรรม

กรมการค้าต่างประเทศยืนยันการทบทวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ของคณะกรรมการทุ่มตลาดฯ ในสินค้าเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบหรือเคลือบด้วยโลหะเจือของอะลูมิเนียมและสังกะสีแบบจุ่มร้อน (GL) จากเวียดนาม และสินค้าแผ่นเหล็กรีดร้อนจากบราซิล อิหร่าน และตุรกี เป็นไปตามหลักกฎหมาย เป็นกลาง โปร่งใส และเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการของผู้มีส่วนได้เสีย คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) มีหลักการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมภายใน ผู้บริโภค และประโยชน์สาธารณะตาม พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งกระบวนการพิจารณามาตรการฯ ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนภายใต้ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ โดยในส่วนของการทบทวนเพื่อต่ออายุมาตรการฯ ตามมาตรา 57 มีหลักเกณฑ์พิจารณาข้อมูลที่เป็นจริง 5 ข้อ ดังนี้ 1. ราคาที่แสดงการทุ่มตลาด (ราคาส่งออกมาไทยต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศที่ถูกกล่าวหา) 2. ความเสียหายที่เกิดกับอุตสาหกรรมภายใน ได้แก่ ปริมาณการนำเข้า ผลกระทบด้านราคา (เช่น การตัดราคา กดราคา และยับยั้งการขึ้นราคา) 3. ผลกระทบที่เกิดแก่อุตสาหกรรมภายใน 15 ปัจจัย เช่น กำไร/ขาดทุน ผลผลิต ปริมาณขายในประเทศ ส่วนแบ่งตลาด อัตราการเจริญเติบโต เป็นต้น 4. ศักยภาพในการผลิตและโอกาสการส่งออกของประเทศที่ถูกกล่าวหามายังประเทศไทย และ 5. ผลกระทบที่อาจเกิดต่อส่วนภาคอื่นๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคบริการ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้เหล็กเป็นต้นทุนการผลิต ซึ่งส่งผ่านไปยังอัตราค่าครองชีพของผู้บริโภคภายในประเทศ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมและวิเคราะห์เพื่อประกอบการประเมินความเป็นไปได้ในการทุ่มตลาด และความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในว่าจะเกิดขึ้นต่อไปหรือฟื้นคืนกลับมาอีก รวมทั้งต้นทุนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

นายรณรงค์ฯ กล่าวว่า คณะกรรมการ ทตอ. ประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่างๆ อาทิ เศรษฐศาสตร์ บัญชี นิติศาสตร์ และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีความเป็นอิสระในการพิจารณาและตัดสินใจ จนได้ผลการวินิจฉัยอันเป็นมติของคณะกรรมการ ทตอ. ทั้งคณะ โดยไม่ใช่อำนาจการตัดสินใจของกระทรวงพาณิชย์หรือ/โดยกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง

นายรณรงค์ฯ กล่าวถึงบทบาทของกรมการค้าต่างประเทศในฐานะเป็นฝ่ายเลขาฯ ทตอ. ว่า กรณีหากผลการทบทวนฯ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดฯ ปรากฏว่าให้ยุติมาตรการฯ กรมฯ ได้กำหนดแนวทางใหม่ที่จะดำเนินการ 2 แนวทาง คือ 1) แจ้งด่วนต่อผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อตักเตือนไม่ให้มีพฤติกรรมการทุ่มตลาดมายังประเทศไทยอีก 2) กรมฯ จะเฝ้าติดตามการนำเข้าสินค้าจากประเทศต้นทาง หากมีพฤติกรรมที่ส่อแนวโน้มการทุ่มตลาดมายังประเทศไทย กรมฯ จะดำเนินการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดทันทีหากภาคเอกชนมีความล่าช้าในการยื่นคำขอเปิดไต่สวน และจะเร่งกระบวนการไต่สวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อการใช้มาตรการฯ ให้ทันท่วงที ยิ่งกว่านั้นกรมฯ จะขึ้นบัญชีดำว่าประเทศผู้ส่งออกดังกล่าวมีพฤติกรรมการทุ่มตลาดกลับมาอีกเป็นรอบที่สอง เพื่อนำบัญชีดำนี้มาใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญในการพิจารณาทบทวนมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ทตอ. เมื่อการใช้มาตรการฯ ผ่านพ้นกรอบเวลาที่กำหนด

นายรณรงค์ฯ กล่าวทิ้งท้าย ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า การไต่สวนการทุ่มตลาดฯ และทบทวนต่ออายุมาตรการฯ ของคณะกรรมการ ทตอ. อยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย มีความเป็นธรรมและตรงไปตรงมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ประเทศ คำนึงถึงความสมดุลของกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการค้าและการผลิต ทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยกรมการค้าต่างประเทศพร้อมรับฟังและหารือร่วมกับทุกฝ่าย และรายงานต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการไต่สวน และคณะกรรมการ ทตอ. เพื่อพิจารณาว่าจะใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดฯ หรือไม่ อันเกิดประโยชน์เที่ยงธรรมต่อทุกภาคธุรกิจให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button