การค้า การส่งออก

“พาณิชย์-DITP” แนะผู้ประกอบการไทยร่วมมือสตาร์ทอัป บุกเจาะตลาดเมืองรองอินเดีย

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะผู้ประกอบการไทยร่วมมือกับสตาร์ทอัปของอินเดีย เพื่อเป็นพันธมิตรในการบุกเบิกตลาดร่วมกัน หลังปัจจุบันสตาร์ทอัปอินเดียมีการเติบโตสูงมาก และยังมีการเปิดตัวในเมืองรองต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เผยอุตสาหกรรมเครื่องเทศและสมุนไพร มีโอกาสในรัฐเกรละ เคมีภัณฑ์และวัสดุชีวภาพ รัฐมัธยประเทศ ยาและโภชนเภสัช รัฐกัว และอิเล็กทรอนิกส์และไอที รัฐกรณาฏกะ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ เร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกและขยายตลาดการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศต่าง ๆ ล่าสุดได้รับรายงานจากน.ส.สุพัตรา แสวงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ เมืองมุมไบ สาธารณรัฐอินเดีย ถึงโอกาสในการร่วมมือกับสตาร์ทอัปของอินเดีย เพื่อเป็นพันธมิตรในการบุกเบิกตลาดร่วมกัน โดยเฉพาะการเจาะตลาดเมืองรองของอินเดีย ที่กำลังเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมฯ ได้รับแจ้งข้อมูลจากทูตพาณิชย์มุมไบว่าในปัจจุบันเศรษฐกิจของอินเดีย นอกจากจะขับเคลื่อนด้วยปัจจัยด้านประชากรและการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัปที่รัฐบาลอินเดียพยายามสร้างให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว โดยพบว่าในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2557–2565) อินเดียมีจำนวนสตาร์ทอัปเพิ่มขึ้นมากจาก 400 รายเป็น 70,000 ราย และยังมีแนวโน้มเกิดสตาร์ทอัปรายใหม่ในเมืองรองต่าง ๆ ของอินเดียเพิ่มมากขึ้นด้วย
ขณะเดียวกัน พบว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 การระดมทุนในธุรกิจสตาร์ทอัปในอินเดียยังกระจุกตัวอยู่ในสามเมืองหลัก ได้แก่ บังกาลอร์ นิวเดลี และมุมไบ ในสัดส่วนประมาณ 78% ของการลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยเมืองใหญ่อย่างเชนไน ไฮเดอราบัด ปูเน่ และเมืองรองในรัฐต่าง ๆ อาทิ รัฐเกรละ และ รัฐมัธยประเทศ ที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัปด้วยมาตรการเชิงรุก

นอกจากนี้ ทูตพาณิชย์ยังรายงานอีกว่า ล่าสุดรัฐบาลได้สนับสนุนการจัดงานรวมตัวของสตาร์ทอัปและหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ (Ecosystem) ภายใต้ชื่องาน Huddle Global 2022 เมื่อวันที่ 15–16 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่เมืองธิรูวานันทปุรัม รัฐเกรละ โดยภายในงานมีการเสวนาเกี่ยวกับการดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาร่วมลงทุนเพื่อขยายกิจการของสตาร์ทอัปอินเดีย ซึ่งในปัจจุบัน มีหลายประเทศให้ความสนใจ โดยเฉพาะประเทศที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรและการผลิต แต่มีเงินลงทุนจำนวนมาก อาทิ ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และทวีปยุโรปบางประเทศ อาทิ อิสราเอล ออสเตรีย และสวิสเซอร์แลนด์

ส่วนรัฐมัธยประเทศ พบว่า เป็นอีกรัฐหนึ่งที่รัฐบาลให้การสนับสนุนสตาร์ทอัป เพื่อการยกระดับการผลิตให้สามารถลดการนำเข้าและพึ่งพาตนเองตามนโยบายอินเดียพึ่งตนเอง (Self-reliant India / AtmaNirbhar Madhya Pradesh) โดยรัฐบาลของมัธยประเทศได้จัดตั้งเครือข่ายสตาร์ทอัป (Startup Conclave) และศูนย์ Start-up Centre เพื่อเป็นหน่วยศึกษาหาช่องว่างในตลาด ทดลองตลาดให้สินค้าต้นแบบ ให้คำปรึกษาเตรียมความพร้อม และประสานเชื่อมโยงกับตลาดและผู้ร่วมลงทุนทั้งในและนอกประเทศ โดยล่าสุดมีแผนจะจัดงานเสวนา Invest Madhya Pradesh-Global Investors Summit 2023 เพื่อนำเสนอสตาร์ทอัปที่มีศักยภาพสูง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลของมัธยประเทศได้ออกมาตรการสนับสนุนด้วย อาทิ การอุดหนุนค่าจ้างพนักงานของสตาร์ทอัป ไม่เกินคนละ 2,500 บาท และไม่เกิน 25 คน การอุดหนุนค่าเช่าสำนักงาน/โรงงาน การยกเว้นค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนต่าง ๆ รวมถึงเงินทุนในระยะเริ่มต้น (Seed Fund / Early-stage Fund)

“จากการเติบโตของสตาร์ทอัปในอินเดียดังกล่าว ทั้งในเมืองหลักและเมืองรอง ถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่มีความพร้อม โดยควรพิจารณาร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัปในอินเดีย เพื่อเป็นพันธมิตรในการบุกเบิกตลาดร่วมกัน โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าขั้นกลางจากไทยที่สามารถนำไปต่อยอดหรือพัฒนาอุตสาหกรรมในอินเดียได้ จะมีแนวโน้มที่รัฐบาลอินเดียให้การสนับสนุน เนื่องจากสามารถสร้างงานในอินเดียได้ด้วย โดยในแต่ละรัฐของอินเดียจะมีทรัพยากรและความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องเทศและสมุนไพรในรัฐเกรละ เคมีภัณฑ์และวัสดุชีวภาพในรัฐมัธยประเทศ ยาและโภชนเภสัชในรัฐกัว และอิเล็กทรอนิกส์และไอทีในรัฐกรณาฏกะ เป็นต้น โดยในแต่ละรัฐจะมีสถาบันเฉพาะทางในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นแกนกลางในการพัฒนาและเชื่อมโยงสตาร์ทอัปอินเดียกับหน่วยงานสนับสนุนต่าง ๆ รวมถึงผู้ร่วมลงทุนจากต่างประเทศ”นายภูสิตกล่าว

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button