คต.เปิด 10 ผลงานเด่นปี 65 ลุยนโยบายเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ
กรมการค้าต่างประเทศ เปิด 10 ผลงานเด่นรอบปีที่ผ่านมา มุ่งเน้นนโยบายเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ และยกระดับการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัล จับมือภาครัฐและเอกชนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ พร้อมคว้า 2 รางวัลโดดเด่นให้กับองค์กร วางแผนเดินหน้านโยบายปี 66 ต่อเนื่อง
นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงผลงานสำคัญของกรมการค้าต่างประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ พร้อมกับยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าต่างประเทศด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ให้สอดคล้องกับบริบทการค้าโลกยุคใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าการค้าของไทยให้เติบโต รวมถึงส่งเสริมให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวและผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ ผลักดันการค้าและเร่งรัดการส่งออกขยายโอกาสทางการตลาด ตลอดจนพัฒนาการให้บริการภาครัฐ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ควบคู่กับการสร้างสังคมที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
โดยผลงานสำคัญ 10 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการค้าชายแดน มีการผลักดันการเปิดจุดผ่านแดนฝั่งไทยเพิ่มอีก 24 แห่ง รวมเป็น 70 แห่ง และประเทศเพื่อนบ้านเปิด 57 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดนให้เกิดกิจกรรมทางการค้าและการลงทุน โดยเป้าหมายการส่งออกชายแดนรวมและผ่านแดนรวม ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 5 หรือมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบจากปี2564 มูลค่าการค้าชายแดนรวม 7 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ค. 65) 618,606 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.63 โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 376,074 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.85 มูลค่าการนำเข้า 242,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.87 และได้ดุลการค้า 133,542 ล้านบาท
ด้านสินค้าข้าว มีการส่งเสริมการส่งออกสินค้าข้าวผ่านโครงการประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในต่างประเทศ และงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติ THAIFEX-ANUGA ASIA 2022 รวมถึงจัดการประชุมหารือกับหน่วยงานของประเทศผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนและติดตามสถานการณ์การค้าข้าวระหว่างกัน โดยข้อมูลจากกรมศุลกากรและใบอนุญาตส่งออกข้าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 20 ก.ย. 65:) การส่งออกมีปริมาณ 5.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.46 มูลค่าการส่งออก 93,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.11 ทั้งนี้ กรมฯ ร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้ปรับเป้าส่งออกข้าวไทยในปี 2565 จาก 7 ล้านตัน เป็น 7.5 ล้านตัน
ด้านสินค้ามันสำปะหลัง กรมฯ ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการส่งออก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้ตลาดส่งออกมีเสถียรภาพส่งผลดีกับราคามันสำปะหลังทั้งระบบ นอกจากนี้ได้ร่วมกันจัดทำแผนการขยายตลาดปี 2565/66 ได้แก่ (1) ตลาดเดิม : จีน (2) ตลาดเก่า : ยุโรป และ (3) ตลาดใหม่ : ตุรกี นิวซีแลนด์ อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดีอาระเบีย โดยในช่วง 8 เดือนแรก ปี2565 ไทยส่งออกสินค้ามันสำปะหลังแล้วปริมาณ 8.10 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 3,112.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะส่งออกสินค้ามันสำปะหลังได้ 11 ล้านตัน มูลค่า 4,200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ซึ่งเป็นมูลค่าส่งออกสูงสุดในรอบ 15 ปี รวมถึงการแก้ไขปัญหาการส่งออกมันสำปะหลังไปจีนผู้ประกอบการไทยทั้งหมด 90 รายที่ได้ลงทะเบียนฯ กับ GACC ได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนทั้งหมดแล้ว และผู้นำเข้าสินค้าที่ถูกกักอยู่ ณ ด่านศุลกากรของจีน จำนวน 17 ราย สามารถนำสินค้าออกจากท่าเรือได้ทั้งหมด
ด้านสินค้าเกษตรนวัตกรรม มีการผลักดันผู้ประกอบการสินค้าเกษตรนวัตกรรมกว่า 300 ราย ผ่านกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทย ก่อให้เกิดมูลค่าการค้า รวมทั้งสิ้น 43 ล้านบาท กิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจงานวิจัยสินค้าเกษตรนวัตกรรม มีบริษัทเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 บริษัท และมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ 65 คู่ และการประกวดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากสินค้าเกษตรไทย Agri Plus Award 2022 เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล
ด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้า มีการส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTAs และ GSP โดยจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้แก้ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 4 ครั้ง โดยช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2565 การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTAs มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 49,900.11 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 80.98 การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง GSP มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 2,194.73 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 56.59 นอกจากนี้ ยังได้จัดแถลงสรุปความสำเร็จ 15 ปี กองทุน FTA (2550-2565) ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้า 23 รายการ และ 6 ประเภทบริการ รวม 62 โครงการ เป็นเงินงบประมาณ 425 ล้านบาท
ด้านมาตรฐานสินค้าส่งออก กรมฯ ได้พัฒนาระบบ “จ่ายปุ๊บ ต่อปั๊บ” หรือ ระบบชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบทะเบียนผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐานและใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้ แทนการยื่นคำขอ พร้อมปรับปรุงและออกข้อบังคับกรมการค้าต่างประเทศว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2565 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิไทยในการใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย และจัดทำโครงการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยที่จำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าได้บริโภคข้าวหอมมะลิไทยอย่างแท้จริง
ด้านมาตรการทางการค้า ขับเคลื่อนมาตรการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง หรือ TCWMD ผ่านโครงการภาคีเครือข่ายความร่วมมือระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP Network) และโครงการบ่มเพาะระบบงานควบคุมสินค้าภายในองค์กร (ICP In-house) ที่อบรมผู้ประกอบการไปแล้วกว่า 134 ราย
ด้านการพัฒนาระบบบริการ โดยการยกระดับบริการดิจิทัล อาทิ SMART-I และ SMART C/O ซึ่งมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกกรมฯ ทำให้ช่วยลดการเรียกเอกสารประกอบการพิจารณา และสามารถให้บริการแบบ No visit ในรูปแบบ Paperless คาดว่าจะพร้อมให้บริการได้ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางการค้าให้ผู้ประกอบการได้กว่า 480 ล้านบาท ต่อปี
ด้านการแก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ กรมฯ ได้มีการติดตามตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าวผลอย่างเข้มงวดมาอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2565 ได้มีหนังสือถึงผู้นำเข้ามะพร้าวผลและประชาสัมพันธ์เพื่อย้ำเตือนให้ผู้นำเข้าปฏิบัติตามมาตรการการนำเข้าอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ ราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยทั่วประเทศเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 8.64 บาทต่อผล เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา 0.87 บาทต่อผล ที่ขายได้ 7.77 บาทต่อผล (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) และคาดว่าราคาในประเทศจะมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตภายในประเทศเริ่มลดลง
ด้านการป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า กรมฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form C/O ทั่วไป โดยกำหนดรายการสินค้าเฝ้าระวังจำนวน 42 รายการ และผู้ส่งออกต้องมีผลการตรวจถิ่นกำเนิดสินค้าหรือตรวจต้นทุนของสินค้าเฝ้าระวังดังกล่าว ประกอบการขอ Form C/O ทั่วไป
นอกจากนี้ กรมฯ จับมือกับเครือข่ายพันธมิตร ได้แก่ กรมศุลกากร โดยกำหนดกฎถิ่นกำเนิดสำหรับสินค้าที่ไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี (Non-Preferential ROO) การถูกตรวจสอบย้อนหลังโดยศุลกากรประเทศปลายทาง การจัดทำทะเบียนการนำเข้าสินค้าที่ถูกพิจารณาการไต่สวน AC แนวทางปฏิบัติของศุลกากรตามประกาศมาตรการ Catch-all Control (CAC) การเชื่อมโยงระบบกล้อง CCTV ของกรมศุลกากรเข้ากับระบบ CIC BTS ของกรมฯ ข้อมูลสถิติการค้าชายแดนรายด่าน (จุดผ่านแดนถาวร และจุดผ่อนปรนการค้า) EXIM BANK ร่วมกับกรมฯ จัดโครงการจับคู่กู้เงิน ซึ่งมีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 1,184 ราย วงเงินที่ได้รับอนุมัติ 5870.8 ล้านบาท และจัดทำ MOU ความร่วมมือในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย และร่วมกับสภาหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าเฝ้าระวัง 42 รายการ
ในปีที่ผ่านมากรมฯ ยังคว้ารางวัลผลงานโดดเด่นประจำปี 2565 โดยกรมการค้าต่างประเทศคว้ารางวัลศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น ประจำปี พ.ศ. 2565 ซึ่งได้รับรางวัลต่อเนื่องมา 6 ปี ตั้งแต่ปี 2560 – 2565 และรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 ระดับดี ประเภทพัฒนาการบริการ ภายใต้ผลงาน “การให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้หลังคาเดียวกัน (One Roof Policy)” ที่เป็นการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการยกระดับการให้บริการและอำนวยความสะดวกทางการค้า
นายพิทักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศ มีแผนการดำเนินงานในปี 2566 ให้เกิดความต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นหน่วยงานส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าต่างประเทศ ผลักดันมูลค่าทางเศรษฐกิจและรองรับตลาด 5.0 ภายในปี 2570” ด้วยการพัฒนาและยกระดับระบบให้บริการด้านการค้าต่างประเทศ ณ จุดเดียว (One Stop Service) โดยผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงระบบให้บริการทั้งหมดของกรมฯ ด้วยบัญชีผู้ใช้งานเพียงบัญชีเดียว (One ID) และการพัฒนาระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย