ข่าวประกัน

สำนักงาน คปภ. ลงพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัย กรณีรถตู้ “คณะทำบุญ” พลิกคว่ำที่จังหวัดขอนแก่นแล้ว

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีรถยนต์ตู้สีขาว หมายเลขทะเบียน นข 2678 นครพนม เกิดอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำบริเวณถนนเลี่ยงเมือง บ้านหนองแสง-โนนตุ่น ตรงข้ามวัดทุ่งเศรษฐี ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 3 ราย โดยผู้ประสบภัยถูกนำส่งโรงพยาบาลขอนแก่น และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2565 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกับสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) และสำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดเหตุ ตรวจสอบการทำประกันภัยพร้อมเร่งอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัย ตลอดจนติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อใช้ระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า รถยนต์ตู้คันที่เกิดเหตุได้ทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.) ไว้กับ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 30 กันยายน 2564 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 โดยคุ้มครองกรณีเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง 500,000 บาทต่อคน กรณีบาดเจ็บสูงสุดไม่เกิน 80,000 บาทต่อคน กรณีสูญเสียอวัยวะ 200,000-500,000 บาทต่อคน กรณีทุพพลภาพอย่างถาวร 300,000 บาทต่อคน และกรณีเข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนไข้ในจะได้รับค่าชดเชยรายวัน 200 บาทต่อวัน รวมกันไม่เกิน 20 วัน
นอกจากนี้รถยนต์ตู้คันดังกล่าว ได้ทำประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย (ประเภท 5) ไว้กับ บริษัท

สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มคุ้มครองวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 สิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 โดยกรมธรรม์ดังกล่าวมีความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก 500,000 บาท ต่อคน วงเงินความรับผิดต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก 600,000 บาท และมีความคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์คันเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะทางบก จำนวน 100,000 บาท รย.01 การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล จำนวน 50,000 บาท ต่อคน รย.02 การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล จำนวน 50,000 บาท และ รย.03 การประกันตัวผู้ขับขี่ จำนวน 100,000 บาท
สำหรับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นผู้โดยสารทั้ง 8 ราย ในเบื้องต้นครอบครัวผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าสินไหมทดแทนรายละ 1,050,000 บาท จากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) รายละ 500,000 บาท

การประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย (ประเภท 5) รายละ 500,000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล รายละ 50,000 บาท ในส่วนของผู้บาดเจ็บ 3 ราย ที่ถูกนำส่งเข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลขอนแก่น เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น ได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลดังกล่าว พร้อมประสานบริษัทประกันภัยเพื่ออำนวยความสะดวก และรับรองสิทธิค่ารักษาพยาบาลกับโรงพยาบาล โดยผู้บาดเจ็บไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาตัวแต่อย่างใด

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ
ในส่วนของผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ราย มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ทางสำนักงาน คปภ. ภาค 3 (ขอนแก่น) ได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. จังหวัดสกลนคร ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่จังหวัดนครพนม เร่งประสานบริษัทประกันภัยแล้ว โดยในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 (พรุ่งนี้) บริษัทฯ จะไปรับเอกสารหลักฐานของผู้ประสบภัยและทายาทในพื้นที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้ประสบภัย เพื่อจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเร่งด่วนต่อไป

“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคน โดยเฉพาะการเดินทางในช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จึงขอให้ผู้ใช้รถตรวจสอบสภาพความพร้อมของรถ รวมทั้งเมาไม่ขับ ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเพื่อความอุ่นใจ ควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การประกันภัยรถภาคสมัครใจ และการประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button