เมืองไทยประกันชีวิต ผนึกโรงพยาบาลคู่สัญญา 38 แห่งขยายระยะเวลาให้บริการ Telemedicine สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รักษาตัวต่อเนื่อง
นายสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการตอกย้ำการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “MTL NEXT TO YOU” ที่มุ่งเน้นการพัฒนารอบด้านอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อก้าวเคียงคู่ดูแลทุกช่วงของชีวิต ส่งมอบความสุขและรอยยิ้มแก่ลูกค้าในทุกกลุ่ม และด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังมีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ เมืองไทยประกันชีวิต ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลคู่สัญญาที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 38 แห่ง “ให้บริการพบแพทย์และได้รับยาตามคำสั่งการรักษาของแพทย์ ผ่านทางโทรเวชกรรม (Telemedicine)” อย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้เอาประกันภัยมีโรคเรื้อรังและมีนัดตรวจติดตามการรักษา เพื่อเป็นการมอบความอุ่นใจ การอำนวยความสะดวก และการลดความเสี่ยงจากการเดินทางออกจากบ้านให้กับผู้เอาประกันภัย พร้อมได้ทำการขยายระยะเวลาให้บริการดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและมีความประสงค์ใช้บริการ Telemedicine นี้ จะต้องเป็นผู้ป่วยเดิมที่มีประวัติการรักษาในโรงพยาบาลที่ให้บริการตามที่กำหนด โดยเป็นโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องมีการติดตามและต้องได้รับยาต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยบริการดังกล่าวจะครอบคลุมการพบแพทย์ และการสั่งยา ทั้งนี้สามารถใช้บริการได้ทั้งผู้เอาประกันภัยรายบุคคลและรายกลุ่ม ที่มีผลประโยชน์ ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (เงื่อนไขเป็นไปตามที่ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต และโรงพยาบาล กำหนด)
สำหรับบริการ Telemedicine Samitivej Virtual Hospital ยังคงให้บริการตามเงื่อนไขปกติ ครอบคลุมทั้ง การเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไข้เดิมของทางโรงพยาบาล ครอบคลุมทั้งผู้เอาประกันภัยรายบุคคลและรายกลุ่ม (เงื่อนไขความคุ้มครองระบุในกรมธรรม์ และเงื่อนไขเป็นไปตามที่โรงพยาบาล กำหนด)
โดยสามารถรับบริการ Telemedicine สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง จากโรงพยาบาลคู่สัญญาทั้ง 38 แห่ง
โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.muangthai.co.th หรือติดต่อเมืองไทยประกันชีวิต โทร.1766 ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อโรงพยาบาลคู่สัญญาที่เข้าร่วมโครงการได้โดยตรง
หมายเหตุ : เงื่อนไขเป็นไปตามที่ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต และโรงพยาบาล กำหนด