การค้า การส่งออก

กรมการค้าต่างประเทศร่วมถกความมั่นคงอาหารอาเซียนท่ามกลางความท้าทายจากโควิด-19 และสถานการณ์รัสเซีย – ยูเครน

กรมการค้าต่างประเทศร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Reserve Board: AFSRB) แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์สินค้าอาหารสำคัญ และประเมินสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค ที่เผชิญกับความท้าทายจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่ออุปทานอาหารทั่วโลก

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศในฐานะผู้แทนประเทศไทย (AFSRB Board) และในฐานะเลขานุการถาวรคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB Secretariat) ได้เข้าร่วมการประชุม AFSRB ครั้งที่ 42 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 ซึ่งมีกัมพูชาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผ่านระบบ VDO Conference โดยในปีนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วม 8 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากสำนักเลขาธิการอาเซียน สำนักเลขานุการระบบข้อมูลสารสนเทศความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Food Security Information System: AFSIS) สำนักเลขานุการองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co – operation and Development: OECD) เข้าร่วมประชุมด้วย โดยประเทศสมาชิกอาเซียนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์อาหารสำคัญของอาเซียน 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง รวมทั้งคาดการณ์ผลผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสำรองอาหารของภูมิภาคและของโลก อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะสินค้าข้าว เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจส่งผลต่อปริมาณอุปทานสินค้าอาหารในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เป็นความท้าทายต่อความมั่นคงทางอาหารครั้งใหญ่ของโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบกรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (ASEAN Integrated Food Security: AIFS) และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน (Strategic Plan of Action – Food Security: SPA-FS) ปี 2564 – 2568 จากสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยความท้าทายต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว และเพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรในภูมิภาคอาเซียนให้ดีขึ้น และผู้แทนจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาได้เชิญชวนสมาชิกอาเซียนที่สนใจเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคง
ทางอาหารของสินค้าเกษตรและสินค้าประมงร่วมกันผ่านระบบ VDO Conference ในช่วงปลายปีนี้ด้วย

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุม AFSRB เป็นกลไกความร่วมมือสำคัญของสมาชิกอาเซียนในการเตรียมพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารในระดับภูมิภาค โดยคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (AFSRB) ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้ความตกลงว่าด้วยการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน (Agreement on the ASEAN Food Security Reserve) ที่ได้มีการลงนามเมื่อปี 2522 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงด้านอาหารภายในภูมิภาค ซึ่งประเทศสมาชิกจะประชุมร่วมกันเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งประเมินและคาดการณ์สถานการณ์อาหารของภูมิภาคอาเซียนและของโลก ตลอดจนติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความมั่นใจถึงความมั่นคงด้านอาหาร โดยในปี 2566 อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุม AFSRB ครั้งที่ 43 ต่อไป

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button