การค้า การส่งออก

“พาณิชย์-DITP”ชี้เป้าผู้ส่งออกไทย ทำตลาดสินค้าอาหารจากพืช เจาะผู้บริโภคอเมริกัน

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ชี้เป้าผู้ส่งออกไทย ทำตลาดสินค้าอาหารที่ทำจากพืช เจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวอเมริกัน หลังแนวโน้มความต้องการพุ่งสูงขึ้น แนะเลี่ยงสินค้าที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมอยู่แล้ว ทั้งไส้กรอก เบอร์เกอร์ เนื้อ ลูกชิ้น และเนย เน้นสินค้าแปลกใหม่อย่างเครื่องดื่มนมมะพร้าว นมถั่ว อาหารทำจากพืช อาหารกลุ่มวีแกน จะมีโอกาสมากกว่า ระบุควรขอเครื่องหมายรับรอง และเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อเปิดตัวสินค้าด้วย

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้มอบหมายให้กรมฯ สำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสุปรารถนา กมลเวชช ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก ถึงโอกาสการทำตลาดสินค้าอาหารที่ทำจากพืช เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มที่ให้ความสำคัญในด้านสุขภาพ การรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพของสัตว์ ที่กำลับเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าว มีข้อมูลยืนยันจากสมาคม Plant-Based Foods Association ร่วมกับสถาบัน The Good Food Institute ที่ได้เปิดเผยยอดค้าปลีกจำหน่ายอาหารทำจากพืชของปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% โดยกลุ่มสินค้านมจากพืช (Plant-based milk) ยอดขายเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 35% ของกลุ่มโปรตีนจากพืช หรือปัจจุบันคิดเป็น 16% ของยอดค้าปลีกนมทั้งหมด ส่วนนมจากสัตว์ มีมูลค่า 264 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2% ขณะที่ชีสจากพืช โยเกิร์ต ครีมเทียม เนย และไอศกรีม ล้วนมีการเติบโตมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสัตว์

ขณะที่เนื้อจากพืชเฉพาะแพ็กในบรรจุภัณฑ์ ในปี 2564 สัดส่วนตลาดค้าปลีกเพิ่มขึ้นเป็น 2.7% ครัวเรือนซื้อเนื้อสัตว์จากพืชเพิ่มขึ้น 18% ส่วนยอดขายของเนื้อสัตว์จากพืชขยายตัว 74% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ยอดขายของเนื้อทั่วไปเติบโตขึ้น 8% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อาหารหมวดไข่จากพืชยังเป็นกลุ่มย่อย แต่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2564 ยอดขาย 8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42% มีส่วนแบ่งตลาดไข่เกือบ 0.6% และยอดขายไข่แบบธรรมดาลดลง 4% ในปี 2564

นายภูสิตกล่าวว่า ปัจจุบันการบริโภคอาหารทำจากพืช รวมไปถึงเนื้อที่ทำจากพืช ได้ขยายวงออกไปมาก ไม่เพียงแต่ในกลุ่มเฉพาะผู้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ได้ขยายเข้ากลุ่มผู้บริโภคหลักของประเทศ โดยพบว่า คนอเมริกันกว่า 30% หันมาบริโภคอาหารและเครื่องดื่มทำจากพืช และ 63% เป็นผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 24-39 ปี ทำให้กระแสความต้องการบริโภคสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากพืชในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการเป็นอาหารมีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีรสชาติที่ดี และยังมีความต้องการอยากทดลองชิมรสของผู้บริโภค ที่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งต่อการเพิ่มการบริโภคอาหารทำจากพืช

นอกจากนี้ ยังพบว่า นักลงทุน และโรงงานผลิตอาหารในสหรัฐฯ ได้ทุ่มทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารทำจากพืชเพื่อสนองความต้องการตลาดที่ขยายตัวเป็นลำดับ รวมไปถึงยักษ์ใหญ่วงการอาหารของสหรัฐฯ เช่น บริษัท Ingredion, Inc., Tyson Foods Smithfield , Perdue , Hormel , Nestle , Jimmy Dean และ Unilever ต่างเข้ามาแข่งขันแย่งสัดส่วนตลาดอาหารทำจากพืชเช่นกัน รวมถึงวงการร้านอาหารจานด่วน ผู้นำของตลาดต่างได้นำเสนอเมนูอาหารทำจากพืชให้บริการแก่ลูกค้า เช่น McDonald นำเสนอเมนู McPlant Meatless Burger ร้าน KFC นำเสนอ Beyond Fried Chicken และ ร้าน Burger King เสนอเมนู Impossible Whopper เป็นต้น
ส่วนช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มทำจากพืช มักจะจำหน่ายในตลาด Mainstream เป็นช่องทางหลัก ได้แก่ ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น Kroger , Whole Food Market , Trader Joe’s , Costco

นายภูสิตกล่าวว่า การขยายตัวของตลาดบริโภคอาหารทำจากพืช ถือเป็นช่องทางและโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการสินค้าอาหารไทยในการขยายตลาดไปยังสหรัฐฯ แต่สินค้าอาหารทำจากพืชของไทย ควรเลี่ยงเข้าไปแข่งขันกับกลุ่มอาหารทำจากพืชพื้นฐานที่ผู้บริโภคอเมริกันคุ้นเคยและเป็นสินค้าที่มีผลิตในประเทศสูง เช่น ไส้กรอก , ฮอตดอก , เบอร์เกอร์ , เนื้อ , ลูกชิ้น และเนย โดยควรนำเสนออาหารและเครื่องดื่มทำจากพืช เช่น เครื่องดื่มนมมะพร้าว และนมถั่วชนิดต่าง ๆ อาหารปรุงสำเร็จรูปพร้อมรับประทานทำจากพืชหรือธัญพืช อาหารทะเลทำจากพืช (Plant-based seafood) และอาหารผู้บริโภคกลุ่มวีแกน ซึ่งผลิตจากขนุนและหัวปลีกล้วย ซึ่งมีโอกาสเจาะตลาดได้

นอกจากนี้ ควรพิจารณาขอรับการรับรองเครื่องหมายว่าเป็นอาหารที่ผลิตจากพืชจากสมาคม Plant Base Foods ของสหรัฐฯ (www.plantbasedfoods.org) เพื่อสร้างความมั่นใจในตัวสินค้าให้กับผู้บริโภคในสหรัฐฯ และควรไปเข้าร่วมแสดงสินค้าที่สำคัญของวงการ คือ Plant Base World Conference and Expo 2022 ระหว่างวันที่ 8-9 ก.ย.2565 ที่นครนิวยอร์ก และงาน Natural Product Expo East 2022 ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.–1 ต.ค.2565 ที่นครฟิลาเดลเฟีย

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button