การค้า การส่งออก

พณ. พร้อมรับฟังข้อกังวลภาคเอกชนประเด็นการนำเข้ากุ้งกระทบต่อการผลิตและเสถียรภาพราคาในประเทศ

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่าตามที่สมาคมกุ้งตะวันออกไทยได้แสดงข้อกังวลว่าการนำเข้ากุ้งจะกระทบต่อการผลิตและทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศไทยและภาพลักษณ์ของกุ้งไทยด้วย พร้อมเสนอให้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการควบคุมการนำเข้ากุ้งที่เข้มงวดและรัดกุม

กรมฯ ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการออกกฎระเบียบเพื่อกำกับดูแลการนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำให้มีคุณภาพมาตรฐาน สอดคล้องกฎระเบียบสากล รวมถึงป้องกันสุขอนามัยสัตว์เพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาดกระทบต่อสัตว์น้ำภายในประเทศ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่มีภารกิจเกี่ยวกับการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศได้มีการติดตามสถานการณ์นำเข้า ส่งออก การผลิต และการบริโภคสินค้าอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อพิจารณาแนวทางรักษาเสถียรภาพของราคาและปริมาณให้เหมาะสม สอดคล้องกับตลาดและความต้องการของผู้บริโภค

fresh shrimp/prawn on white background

สำหรับสถานการณ์นำเข้าสินค้ากุ้งในปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) ไทยนำเข้ากุ้งสด แช่เย็น แช่แข็ง ปริมาณ 35,344 ตัน มูลค่า 5,601.70 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้น 116% และ 132% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่านำเข้า 3 อันดับแรกนำเข้าจากเอกวาดอร์ (สัดส่วน 40%) อาร์เจนตินา (สัดส่วน 30%) และออสเตรเลีย (สัดส่วน 7%) ตามลำดับ สำหรับการส่งออกมีปริมาณ 57,375 ตัน มูลค่า 14,987 ล้านบาท ปริมาณลดลง 3% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมูลค่าส่งออก 3 อันดับแรกส่งออกไปสหรัฐอเมริกา (สัดส่วน 28%) จีน (สัดส่วน 21%) และญี่ปุ่น (สัดส่วน 18%) ตามลำดับ

นายกีรติฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องพร้อมรับฟังและพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเพื่อให้เป็นธรรมกับทุกฝ่ายและปกป้องผลประโยชน์การค้าของประเทศ อย่างไรก็ดี การออกมาตรการควบคุมการนำเข้าส่งออกสินค้าใด จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการค้าหรือเพิ่มภาระของประชาชน ซึ่งจะต้องหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะก่อนดำเนินการมาตรการใดๆ

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button