ข่าวประกัน

สมาคมประกันวินาศภัยไทย แจ้งเตือนผู้เอาประกันภัยเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยเปิดเผยว่า จากกรณีฝนตกหนักในช่วงวันหยุดที่ผ่านมาและก่อให้เกิดน้ำท่วมหนักภายในนิคมอุตสาหกรรมบางปูและบริเวณใกล้เคียง โดยในบางพื้นที่มีระดับน้ำท่วมสูงเกินกว่า 1 เมตรนั้น สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดและขอแจ้งเตือนผู้เอาประกันภัย รวมถึงผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป ให้เตรียมการรับมือกับภัยน้ำท่วมซึ่งอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ดังต่อไปนี้

  1. ติดตามการพยากรณ์อากาศล่วงหน้า การแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก การแจ้งระบายน้ำจากเขื่อน รวมทั้งข้อมูลและประกาศแจ้งเตือนอื่น ๆ จากกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
  2. ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่ธุรกิจหรือที่พักอาศัยของท่านตั้งอยู่
  3. ตรวจเช็คสภาพแนวกั้นน้ำโดยรอบและระดับความสูงต่ำของพื้นที่ตั้งเพื่อดูความเป็นไปได้ของการท่วมขัง
  4. สำรวจช่องทางการระบายน้ำและเส้นทางการไหลของน้ำหากเกิดน้ำท่วม รวมทั้งเคลียร์ช่องทางการระบายน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำแต่เนิ่น ๆ
  5. สำรวจความมั่นคงแข็งแรงของสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงผนังอาคาร พื้น และบริเวณโดยรอบ หากพบบริเวณที่ชำรุดควรรีบดำเนินการซ่อมแซมในทันที
  6. สำรวจการทำงานของระบบตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ และการปิดระบบไฟฟ้าหากเกิดน้ำท่วม
  7. เตรียมการยกระดับความสูงของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ติดตั้ง รวมถึงขนย้ายวัตถุดิบและสต๊อกสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงทรัพย์สินมีค่าอื่น ๆ ขึ้นที่สูง
  8. เตรียมการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินมีค่าและยานพาหนะไปยังสถานที่ปลอดภัย หากจำเป็นต้องอพยพออกจากสถานประกอบการหรือที่พักอาศัย
  9. สำหรับนิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก ควรสำรวจแนวป้องกันที่สร้างไว้ว่ายังมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันน้ำจากภายนอกหรือไม่ และเตรียมเครื่องสูบน้ำให้เพียงพอเพื่อระบายน้ำออกจากนิคมในกรณีที่ฝนตกหนักและเกิดการท่วมขังภายใน

10.สำรวจกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ว่ามีความคุ้มครองภัยน้ำท่วมหรือไม่ และได้มีการต่ออายุกรมธรรม์เรียบร้อยแล้วหรือไม่

นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้กล่าวต่อว่า ความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยภายหลังการเกิดเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 ได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิม ความคุ้มครองภัยธรรมชาติจากน้ำท่วม ลมพายุ และแผ่นดินไหวที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้เอาประกันภัยอาจไม่ได้ทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองภัยธรรมชาติไว้เต็มมูลค่าของทรัพย์สิน ส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องรับความเสี่ยงไว้เองสูงขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การดำเนินการเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยน้ำท่วมจึงเป็นสิ่งที่ผู้เอาประกันภัยรวมถึงผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปควรต้องมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้

การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างรุนแรงและฉับพลันในหลากหลายประเทศและก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าที่สูงมากในปีนี้ โดยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นที่เยอรมันในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คาดว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่ากว่า 30,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกว่า 8,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่น้ำท่วมที่มณฑลเหอหนานในประเทศจีนเนื่องมาจากฝน 1,000 ปี ก่อให้เกิดความเสียหายกว่า 20,630 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ

จะเห็นได้ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยน้ำท่วมในแต่ละเหตุการณ์นั้น มีทรัพย์สินเพียงส่วนน้อยที่ได้มีการทำประกันภัยรองรับเอาไว้ โดยผลการศึกษาในเรื่องดังกล่าวของ Fitch Ratings แสดงให้เห็นว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากภัยธรรมชาติในทวีปเอเชียที่ไม่ได้มีการทำประกันภัยไว้ อาจมีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ซึ่งส่งผลทำให้สภาวะเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะชะลอตัว ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยน้ำท่วมจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น

เนื่องจากธุรกิจประกันวินาศภัยถือเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทยจึงใคร่ขอแจ้งเตือนผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นลูกค้าของธุรกิจเรา รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการพิจารณาเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ธุรกิจประกันวินาศภัยพร้อมที่จะยืนหยัดเคียงข้างผู้เอาประกันภัยในการร่วมบริหารความเสี่ยงในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถก้าวข้ามผ่านทุกวิกฤตไปได้ด้วยกัน” นายอานนท์ วังวสุ ได้กล่าวปิดท้าย

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button