‘ทูตพาณิชญี่ปุ่น’ เผย Smart Textiles คลื่นลูกใหม่แห่งอุตสาหกรรมสิ่งทอแดนปลาดิบ
ทูตพาณิชณี่ปุ่นขานรับนโยบาย ‘จุรินทร์’ เผย Smart Textiles อนาคตใหม่ของสินค้าสิ่งทอในญี่ปุ่นโต คาดการกว่า 2000% มูลค่าสูงถึง 6.5 พันล้านบาท ในปี 2030 แนะผู้ประกอบการสิ่งทอไทยติดตามวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีหวังเพิ่มโอกาสแข่งขันเวทีโลก
นางสาวพรรณณี สุวรรณธุปินตัน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮิโรชิมา เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมองเห็นความสำคัญของ Smart Textiles ว่าเป็นสินค้าใหม่ที่จะเป็นหนึ่งในแกนสำคัญของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น โดยจะเป็นการปฏิวัติขนานใหญ่ของแนวคิดเกี่ยวกับสินค้าสิ่งทอที่เคยมีมา สำนักงานฯจึงได้ติดตามและหาช่องทางการขยายการส่งออกตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิช ในฐานะเซลล์แมนประเทศ
Smart Textiles (สิ่งทออัจฉริยะ) ที่มีความล้ำยุคทางเทคโนโลยี ซึ่งทำหน้าที่ได้หลากหลายต่างไปจากผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่เคยมีมา ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ ตั้งแต่ในทศวรรษ 1980 ได้เริ่มมีการนำอุปกรณ์แสดงแสงสีติดเข้ากับเสื้อผ้าและพัฒนาเรื่อยมาจนในที่สุดสามารถทำให้วัสดุสิ่งทอเป็นสื่อส่งกระแสไฟฟ้าได้
ในปี 2017 METI ได้จัดตั้ง “กลุ่มศึกษาเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตโดยการใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น IoT ในสินค้าสำหรับชีวิตประจำวัน” โดยมีจุดประสงค์เพื่อการรวบรวมข้อมูลสถานะปัจจุบันของสาขาดิจิทัล โดยเฉพาะ Smart Textiles และ Fashion Tech เพื่อพิจารณาประเด็นและแนวทางที่เป็นไปได้ในการดำเนินการต่อไปในอนาคต โดยพบว่า ในภาพรวมญี่ปุ่นยังอยู่ในระดับทีล้าหลังกว่าประเทศอื่นในการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อนำไปใช้เชิงพาณิชย์ เมื่อพิจารณาสถิติการยื่นขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับ Smart Textiles ทั้งหมดของโลก ในช่วงปี 2010-2018 ญี่ปุ่นมีการยื่นขอจดสิทธิบัตรอยู่ที่ 8.5% จัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลก รองจากจีน สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และเกาหลี (กราฟ2)
(กราฟ1) Yano Research Institute ได้ประเมินขนาดตลาดของสินค้า Smart Textiles ในญี่ปุ่นและคาดการว่าน่าจะขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 2,880.4% คิดเป็นมูลค่า 2.27 หมื่นล้านเยน (6.5 พันล้านบาท) ในปี 2030 และคาดว่าจะมีการขยายการใช้ไปยังอุตสาหกรรมต่างๆอย่างกว้างขวาง เช่น การก่อสร้าง การผลิต การขนส่ง รวมทั้งการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุด้วย
ซึ่งในอนาคตเราอาจได้เห็นเสื้อผ้าที่สามารถติดตามสภาพร่างกายประจำวันเพื่อประโยชน์ในการดูแลสุขภาพ แจ้งเตือนความผิดปกติของร่างกาย หรือยกระดับคุณภาพการนอนหลับ ฯลฯ สินค้าเสื้อผ้าสำหรับผู้สูงวัย โดยผู้ดูแลสามารถติดตามข้อมูลสภาพร่างกายได้จากสถานที่อื่นที่ห่างออกไป ช่วยแจ้งเตือนหากผู้สูงวัยหกล้ม หรือแม้กระทั่งเสื้อกีฬาสำหรับนักกีฬาอาชีพ ช่วยในการเทรนนิ่งและดูแลสภาพความพร้อมของร่างกาย
อาจกล่าวได้ว่า Smart textiles ได้เปิดศักราชใหม่ให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมีความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับสินค้าสิ่งทอซึ่งเดิมใช้ประโยชน์ในการสวมใส่ปกปิดร่างกาย ไปเป็นสิ่งที่ช่วยดูแลสุขภาพและความปลอดภัยของผู้สวมใส่ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่อาจพัฒนาโดยใช้ Smart textiles จะยังคงมีการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องต่อไป ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยควรติดตามและศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้าสิ่งทอของไทย
อย่างไรก็ตาม เพื่อตอบโจทย์การขยายตลาดการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้มีการจัดโครงการ Material Thai to Japan กิจกรรมให้คำปรึกษาเชิงลึก ติวเข้มเทคนิคการผลิตสินค้า material พร้อมความรู้ด้านเทรนด์การตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย โดย Mr.Junya Kitagawara ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด material ของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7-11 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และจะมีการจัดเป็นครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนสิงหาคม ก่อนนำสินค้าของผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Tokyo International Gift Show ( Life x Design) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2564 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลสินค้าและตลาดส่งออกเชิงลึกจากทูตพาณิชย์โดยตรงได้ที่ www.ditp.go.th