การค้า การส่งออก

EU เปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนออกกฎหมายห้ามใช้กรงสำหรับเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม

รัฐสภายุโรปเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการออกกฎหมายห้ามใช้กรงในการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ตามข้อเรียกร้องของพลเมืองยุโรป 1.4 ล้านราย โดยเห็นว่าเป็นการทรมานสัตว์ในฟาร์มโดยไม่จำเป็น

นายธัชชญาน์พล อภิมนต์เตชบุตร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2564 รัฐสภายุโรป โดยคณะกรรมการด้านการเกษตรร่วมกับคณะกรรมการด้านคำขอได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อการห้ามใช้กรงเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม (End the Cage Age) ตามข้อเรียกร้องของพลเมืองยุโรป 1.4 ล้านราย ที่ยื่นคำขอให้สหภาพยุโรป (EU) ออกกฎหมายห้ามใช้ (1) กรง (Cages) สำหรับไก่ไข่ กระต่าย นกกระทา เป็ด ห่าน (2) คอกคลอด (Farrowing Cages) สำหรับแม่สุกร (3) เล้า (Stall) สำหรับแม่สุกร และ (4) คอกเดี่ยว (Individual Pen) สำหรับลูกวัว

ผู้เข้าร่วมการรับฟังความเห็นได้ให้ข้อคิดเห็นครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ คือ (1) การยุติการใช้กรง คอก หรือเล้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม โดยให้เปลี่ยนไปใช้วิธีการเลี้ยงแบบโรงเรือน ระบบอินทรีย์ และปล่อยให้หากินตามธรรมชาติซึ่งสอดคล้องกับหลักการสวัสดิภาพสัตว์ภายใต้ยุทธศาสตร์ปรับปรุงห่วงโซ่อาหาร (Farm to Fork) อันเป็นหัวใจของนโยบายสีเขียว (European Green Deal) (2) การกำหนดนโยบายปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เกษตรกรมีระยะเวลาปรับตัว (3) การกำหนดมาตรการสำหรับสินค้าจากประเทศที่สามซึ่งมีมาตรฐานด้านสวัสดิภาพสัตว์ต่ำกว่าของ EU (4) การประเมินผลกระทบต่อเกษตรกรที่ไม่มีความพร้อม และปัญหาโรคสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นหากการจัดการไม่เพียงพอ ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปจะนำข้อคิดเห็นข้างต้นประกอบการพิจารณาออกระเบียบให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ต่อไป

นายธัชชญาน์พลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สมาชิก EU หลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามใช้กรงสำหรับเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มแล้ว เช่น ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส เบลเยียม เช็ก เยอรมนี สวีเดน สโลวัก เป็นต้น โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน EU ได้ให้ความสำคัญและผลักดันประเด็นดังกล่าวในการจัดทำความตกลงทางการค้า และกำหนดเป็นเงื่อนไขการเปิดตลาดสำหรับสินค้าที่มีมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อการจัดทำ FTA ของ EU กับประเทศที่สาม โดยในปี 2563 ไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัตว์ปีกไป EU มากเป็นลำดับที่ 4 โดยมีมูลค่าการส่งออก 10,208.90 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.50 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ดี ไทยได้เริ่มจัดทำมาตรฐานเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage free) เพื่อผลักดันให้มีการผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพสัตว์มากยิ่งขึ้น เพิ่มขีดความสามารถและเป็นแต้มต่อทางการค้าให้กับเกษตรกรไทย และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://data.europa.eu/eli/dir/1998/58/oj หรือ QR CODE

Related Articles

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Back to top button